สาขาบริหารรัฐกิจ

จาก คลังข้อมูลด้านรัฐศาสตร์

หน่วยงานของรัฐ[แก้ไข]

1.1 ส่วนราชการ

1.1.1 ความหมาย

หน่วยงานที่รับผิดชอบให้บริการสาธารณะทางปกครองซึ่งเป็นภารกิจหลักของรัฐ ให้บริการเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งกำไร ใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้อำนาจฝ่ายเดียวของรัฐเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรม บุคลากรมีสถานะเป็นข้าราชการและรัฐต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำของหน่วยงาน

1.1.2 ความสัมพันธ์กับรัฐ

• รัฐจัดตั้ง

• รับปกครองบังคับบัญชา

• ใช้งบประมาณแผ่นดิน

• ใช้อำนาจฝ่ายเดียวของรัฐเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรม

• รัฐต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำของหน่วยงาน

1.1.3 การบริหารจัดการองค์กร

รัฐต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำของหน่วยงาน

1.2 รัฐวิสาหกิจ

1.2.1 ความหมาย

หน่วยงานที่รับผิดชอบบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหารายได้ ต้องสามารถเลี้ยงตัวเองจากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ แต่หากมีความจำเป็นต้องรับเงินงบ ประมาณสนับสนุนเป็นครั้งคราวหรือบางส่วน ในกรณีนี้รัฐก็ควรจัดสรรงบประมาณให้ในรูปของเงินอุดหนุนซึ่งควรจะแยกจากการ เก็บค่าบริการตามปกติของรัฐวิสาหกิจนั้นๆให้ชัดเจน เป็นนิติบุคคลและมีความสัมพันธ์กับรัฐซึ่งประกอบด้วยรัฐจัดตั้ง ทุนเกินครึ่งเป็นของรัฐ รัฐมีอำนาจบริหารจัดการ (ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงและการให้นโยบาย)การลงทุนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐและรายได้ต้องส่งคืนรัฐ บุคลากรมีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ระเบียบการปฎิบัติงานต่างๆใช้หลักเดียวกันกับส่วนราชการมีการดำเนินงานลักษณะผสมระหว่างกิจการเอกชนและหน่วยงานของรัฐบาลแบบมหาชนมีเป้าหมายคือ ผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

1.2.2 ความสัมพันธ์กับรัฐ

• รัฐจัดตั้ง

• ทุนเกินครึ่งเป็นของรัฐ

• รัฐมีอำนาจกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนด

• การลงทุนต้องขอความเห็นชอบจากรับและรายได้ต้องส่งคืนรัฐ

1.2.3 การบริหารจัดการองค์กร

การดำเนินการไม่ใช้อำนาจฝ่ายเดียวเป็นหลัก แต่ใช้สัญญา ไม่ใช้กฏระเบียบของทางราชการในการบริหารการเงิน การบริหารงานและการบริหารบุคคล ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ต้องใช้อำนาจพิเศษของรัฐ เช่น เวนคืน ปักเสา พาดสายต้องจัดตั้งโดยมีพระราชบัญญัติรองรับ

1.2.4 การจัดประเภท

การจัดประเภทรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายจัดตั้ง มีการจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ระเบียบหรือข้อบังคับ ประมวลกฏหมายแงและพาณิชย์ และกฎหมายด้วยบริษัทมหาชน จำกัด

• รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ ทุนทั้งสิ้นเป็นของรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทสไทย องคืการโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

• รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฏีกา มีทุนทั้งสิ้นเป็นของรัฐ เช่น องค์การสวนยาง องคืการอุตสาหกรรมป่าไม้

• รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ บริษัทจำกัดที่รับเป็นเจ้าของทั้งสิ้น หรือรัฐบาลถือหุ้นเกินร้อยละ 50

• รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรี อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงที่สังกัด เช่น โรงงานยาสูบ ฉลากกินแบ่งรับบาล

1.3 องค์กรมหาชน

1.3.1 ความหมาย

หน่วยงานที่รับผิดชอบบริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร เป็นนิติบุคคลและมีความสัมพันธ์กับรัฐ รัฐจัดตั้ง ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐหรือสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และรัฐมีอำนาจบริหารจัดการ การลงทุนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐ บุคลากรมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ วิธีดำเนินการไม่ใช้อำนาจฝ่ายเดียวเป็นหลัก แต่ใช้สัญญา ไม่ใช้กฎระเบียบของทางราชการ

1.3.2 ความสัมพันธ์กับรัฐ

• รัฐจัดตั้ง

• ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐหรือสามารถเลี้ยงตัวเองได้

• รับมีอำนาจกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนด

• การลงทุนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐ

1.3.3 การบริหารจัดการองค์กร

วิธีการดำเนินการไม่ใช้อำนาจฝ่ายเดียวเป็นหลัก แต่ใช้สัญญา ไม่ใช้กฎระเบียบของทางราชการ ยกเว้นกิจกรรมที่ต้องใช้อำนาจฝ่ายเดียวต้องออกพระราชบัญญัติ รวมทั้งในกรณีจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

1.3.4 การจัดประเภท

การจัดประเภทองคืกรมหาชนตามกฏหมายจัดตั้ง

• องค์กรมหาชนที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฏีกาซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน พ.ศ. 2542 มีจำนวน 29 แห่ง

• องค์กรมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (หน่วยงานในกำกับ) เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข เป็นต้น

1.4 หน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่

1.4.1 ความหมาย

องค์การของรัฐที่เป็นอิสระ ซึ่งเป็นหน่วยงาน รูปแบบใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลกิจกรรมของรัฐตามนโยบายสำคัญที่ ต้องการความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงาน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้นอีกอย่างหนึ่งคือ กองทุนที่เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจของรัฐ หมายถึง นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยตราเป็นพระราชบัญญัติเนื่องจากต้องการอำนาจรัฐในการบังคับฝ่ายเดียว ต่อภาคเอกชนหรือประชาชนในการสมทบเงินเข้ากองทุน ฯลฯ

1.4.2 ความสัมพันธ์กับรัฐ

• รัฐจัดตั้ง

• ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ

• รัฐมีอำนาจกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนด

• ต้องการอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบังคับฝ่ายเดียวต่อประชาชนหรือกำกับตรวจสอบ

• การบริหารงานไม่ใช่กฎระเบียบของทางราชการ

• รายงานผลต่อคระรัฐมนตรีและรัฐสภา

1.4.3 การบริหารจัดการองค์กร

การบริหารงานไม่ใช่กฎระเบียบของทางราชการ และต้องรายงานผลต่อคระรัฐมนตรีและรัฐสภา

1.4.4 การจัดประเภท

การจัดประเภทของหน่วยธุรการขององค์การของรัฐที่เป็นอิสระตามลักษณะภารกิจ

• หน่วยธุรการขององค์การของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นหน่วยงานจัดตั้งโดยพระราชบบัญญัติเฉพาะ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

• หน่วยธุรการขององค์กรรัฐที่ทำหน้าที่ให้บริการ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ เช่น องคืการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เป็นต้น การจำแนกประเภทของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษตามลักษณะภารกิจของหน่วยงาน

• หน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่มีลักษณะภารกิจในการให้บริการด้านพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมแก่ส่วนราชการเจ้าสังกัด เช่น สำนักพิมพ์คระรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

• หน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่มีลักษณะภารกิจในการให้บริการสาธารณะทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น สถาบันส่งเสริมการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นต้น

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่

1. ความหมายและคุณลักษณะสำคัญของหน่วยงานรัฐ กับการจัดทำประมวลจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่มา http://www.ombudsman.go.th/10/documents/Ethical211.pdf


การบริหารราชการแผ่นดิน[แก้ไข]

ระบบราชการไทยแบ่งองค์กรออกเป็น 3 ส่วน คือ ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน ใช้หลักการรวมอำนาจปกครองและหลักการกระจายอำนาจผสมกัน กล่าวคือ ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้หลักรวมอำนาจปกครอง สำหรับราชการส่วนท้องถิ่นใช้หลักการกระจายอำนาจปกครอง

2.1 ราชการบริหารส่วนกลาง

2.1.1 ความหมาย

หน่วยราชการจัดดำเนินการและบริหารโดยราชการของ ส่วนกลางที่มีอำนาจในการบริหารเพื่อสนองความต้องการของประชาชน จะมีลักษณะการปกครองแบบรวมอำนาจ หรือมีความหมายว่า เป็นการรวมอำนาจในการสั่งการ การกำหนดนโยบายการวางแผน การควบคุมตรวจสอบ และการบริหารราชการสำคัญ ๆ ไว้ที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตามหลักการรวมอำนาจ

2.1.2 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง

มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่ดิน พ.ศ. 2534 ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางว่า ได้แก่ สำนักรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวงซึ่งสังกัดสำนักรัฐมนตรีหรือกระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง

2.2 ราชการบริหารส่วนภูมิภาค

2.2.1 ความหมาย

หน่วยราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกออกไปดำเนินการจัดทำตามเขตการปกครอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการส่วนกลาง ซึ่งได้รับแต่งตั้งออกไปประจำตามเขตการปกครองต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคเพื่อบริหารราชการภายใต้การบังคับบัญชาของราชการส่วนกลางโดยมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเพราะถือเป็นเพียงการแบ่งอำนาจการปกครองออกมาจากการบริหารส่วนกลางการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นการบริหารราชการตามหลักการแบ่งอำนาจโดยส่วนกลางแบ่งอำนาจในการบริหารราชการให้แก่ภูมิภาค อันได้แก่จังหวัด มีอำนาจในการดำเนินกิจการในท้องที่แทนการบริหารราชการส่วนกลาง ลักษณะการแบ่งอำนาจให้แก่การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง การมอบอำนาจในการตัดสินใจ วินิจฉัย สั่งการให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไปประจำปฏิบัติงานในภูมิภาค เจ้าหน้าที่ในว่าในภูมิภาคให้อำนาจบังคับบัญชาของส่วนกลางโดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตั้งถอดถอนและงบประมาณซึ่งเป็นผลให้ส่วนภูมิภาคอยู่ใการควบคุมตรวจสอบจากส่วนกลางและส่วนกลางอาจเรียกอำนาจกลับคืนเมื่อใดก็ได้ดังนั้นในทางวิชาการเห็นว่าการปกครองราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจึงเป็นการปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง

2.2.2 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค

การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคของไทยเป็นไปตามหลักการแบ่งอำนาจปกครอง(décomcentration) กล่าวคือ เป็นการที่ราชการบริหารส่วนกลางมอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้แก่ตัวแทนของส่วนราชการที่ถูกส่งไปทำงานยังส่วนภูมิภาคในปัจจุบัน การจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาคของไทยเป็นไปตามผลของกฎหมาย 2 ฉบับ โดยพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดให้จัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาค 2 ระดับ คือ จังหวัดและอำเภอ ส่วนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 กำหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคอีก 3 ระดับ คือ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

2.3 ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

2.3.1 ความหมาย

กิจกรรมบางอย่างซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ท้องถิ่นจัดทำกันเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยเฉพาะโดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินงานโดยตรงและมีอิสระในการบริหารงานอาจกล่าวได้ว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการบริหารราชการตามหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ เป็นการมอบอำนาจให้ประชาชนปกครองกันเอง เพื่อให้ประชาชนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นการแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง และอาจยังประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในท้องที่ได้มากกว่า เพราะประชาชนในท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาและความต้องการได้ดีกว่าผู้อื่น

2.3.2 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้วางหลังเกณฑ์สำหรับใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีสาระสำคัญเป็นการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองได้และมีอิสระในการดำเนินงาน ให้ท้องถิ่นเพื่อพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

หลักสำคัญในการปกครองส่วนท้องถิ่นคือความเป็นอิสระ รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยการให้อิสระดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับ “รูปแบบของประเทศ” ความเป็นอิสระของการปกครองส่วนท้องถิ่นมีได้ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

(ก) ความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ได้แก่ การที่รัฐมอบอำนาจให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่นที่จะมีอิสระในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการบริหารท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานและเพื่อจัดทำบริการสาธารณที่ดีและเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

(ข) ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเครื่องชี้วัดถึงความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การมีอำนาจบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมายถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจปกครองและบังคับบัญชาพนักงานของตน กล่าวคือ มีอำนาจกำหนดตำแหน่ง สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง จัดการเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทำงาน ตลอดจนให้คุณให้โทษพนักงานรวมทั้งให้สิทธิประโยชน์เมื่อพ้นจากงาน(1) ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หากเป็นไปได้ดีและมีประสิทธิภาพก็จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างประสบผลสำเร็จ

(ค) ความเป็นอิสระด้านการเงินและการคลัง เนื่องจากภารกิจสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องมีเงินมาเพื่อใช้จ่ายและดำเนินการ ซึ่งหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดหาเงินมาใช้จ่าย ก็จะต้องรอรับการจัดสรรเงินจากส่วนกลางซึ่งจะส่งผลทำให้ความเป็นอิสระด้านการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อส่วนกลางได้จัดสรรเงินมาให้ก็จะต้องเข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินซึ่งก็จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับหนึ่ง ดังนั้น ความเป็นอิสระทางด้านการเงินและการคลังจึงได้แก่การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณและรายได้เป็นของตนเอง โดยมีอำนาจในการใช้จ่ายเงินเหล่านั้นได้อย่างอิสระพอสมควร ซึ่งจะส่งผลทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

2.3.3 การมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากการมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อีก ๓ กรณีด้วยกันคือ

(ก) การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๕ คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ การตรวจสอบรายชื่อ และการลงคะแนนเสียงในการถอดถอนบุคลากรดังกล่าว

(ข) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๖ คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ ส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อ หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อนั้นจะต้องมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดดังกล่าว

(ค) การมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหลักการใหม่ที่เพิ่งมีการบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๗ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ มีการกำหนดให้

(ค.1) ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าวได้ด้วย

(ค.2) ในกรณีที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนทราบก่อนกระทำการเป็นเวลาพอสมควร และในกรณีที่เห็นสมควรหรือได้รับการร้องขอจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนการกระทำนั้น หรืออาจจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(ค.3) ในการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นจะมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายมิได้

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :

1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่8) พ.ศ. 2553 ที่มา http://regu.tu.ac.th/quesdata/Data/A81.pdf

2. การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางที่มา http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1234

3. การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่มา http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1239

4. การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ที่มา http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1240

การแปรรูปกิจการภาครัฐ[แก้ไข]

3. การแปรรูปกิจการภาครัฐ

3.1 ความหมาย

รัฐปรับปรุงกิจการรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดบทบาทรัฐและเพิ่มบทบาท เอกชนทั้งการลงทุน บริหารงาน จูงใจ ให้โอกาสและสร้างความเป็นธรรมในการลงทุนกิจการต่างๆ ที่ต้องแปรรูป เพราะจำเป็นต้องระดมทุนของเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลต้องรับภาระในการลงทุน และบริหารกิจการมากเกินไป กิจการที่รัฐดำเนินการเป็นรัฐวิสาหกิจอาจไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กอปรกับปัจจุบันเอกชน มีความสามารถในการดำเนินการโครงขนาดใหญ่ได้ดี และมีความคล่องตัวสูงกว่า ภาครัฐบาล สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ และประเด็นที่สำคัญ คือ พันธกรณีหรือคำแนะนำ ให้จัดระบบโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

3.2 ประเภทการแปรรูป

การแปรรูปกระทำได้หลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง แตกต่างกัน ที่นิยมใช้มี 7 รูปแบบคือ

3.2.1 เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในกิจการแข่งขันกับรัฐบาล โดยการผ่อนคลายกฎระเบียบ เช่น พิจารณา แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ห้ามเอกชนดำเนินกิจการ (ตัวอย่างเช่นโทรศัพท์ และการสื่อสาร เป็นต้น)

3.3.2 รัฐร่วมทุนกับเอกชนดำเนินกิจการ โดยการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ มีกำหนด เวลาที่แน่นอน

3.3.3 ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนมาดำเนินงาน โดยการโอนภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของรัฐวิสาหกิจให้กับเอกชน ภายใต้เงื่อนไขสัญญา ซึ่งรูปแบบของสัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ก.สัญญาว่าจ้างเฉพาะกิจกรรม คือ สัญญาตกลงให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินงานเฉพาะกิจกรรม เช่น การทำ ความสะอาด บำรุงรักษาและรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

ข.สัญญาว่าจ้างบริหาร โดยให้เอกชนรับผิดชอบบริหารและดำเนินงานของรัฐ หรือองค์ประกอบสำคัญของ ธุรกิจนั้นๆ โดยที่กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของรัฐอยู่

3.3.4 ให้สัมปทานในลักษณะ Build - Operate - Transfer (B.O.T.) หมายถึงการทำสัญญาให้บริษัทเอกชนเข้ามา รับผิดชอบ ระดมทุน ออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินโครงการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อหมดระยะสัมปทานกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินและความรับผิดชอบในโครงการนั้นโอนให้แก่รัฐ

3.3.5 ให้สัมปทานในลักษณะ Build - Transfer - Operate (B.T.O.) หมายถึงการทำสัญญาให้บริษัทเอกชนมา รับผิดชอบ ระดมทุน ออกแบบ ก่อสร้าง แล้วโอนให้แก่รัฐ โดยมีสิทธิดำเนินงานตลอดอายุสัมปทาน

3.3.6 กระจายหุ้นให้กับเอกชน หมายถึง การโอนความเป็นเจ้าของจากรัฐ ไปให้เอกชน ซึ่งสามารถทำได้โดย

ก.ขายหุ้นให้สาธารณชน รวมถึงการขายโดยตรงให้กับเจ้าพนักงานขององค์กร

ข.ขายหุ้นหรือสินทรัพย์ของกิจการหนึ่ง ให้กับสถาบันการเงินของเอกชน

3.3.7 ยุบเลิกกิจการ หรือการหยุดดำเนินการอย่างถาวร เนื่องจากกิจการไม่สามารถ ดำเนินต่อไปได้

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :

1. การแปรรูปองค์กรรัฐ ที่มาhttp://www.thaiengineering.com/component/content/article/268.html

นโยบายสาธารณะ[แก้ไข]

1.1 ความหมาย

กิจกรรมของรัฐบาลที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ สังคมส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ หรือบางนโยบายมีผลกระทบต่อคนเกือบทุกคน เช่น นโยบายเกี่ยวกับภาษี การป้องกันประเทศ เป็นต้น โดยนโยบายสาธารณะมีลักษณะเป็นกระบวนการ กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง ยากที่จะชี้ชัดจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดของนโยบายก็ไม่แน่นอน

1.2 ความสำคัญของนโยบายสาธารณะ

นโยบายสาธารณะนั้น รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนโยบายสาธารณะมีความสำคัญ ดังนี้

1.2.1 รัฐบาล เมื่อพิจารณาความสำคัญต่อผู้กำหนดนโยบาย ประการแรกส่วนใหญ่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายบริหารประเทศก็คือ รัฐบาล หากรัฐบาลกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทั้งในด้านค่าความนิยมของสังคมและการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของประชาชน จะทำให้รัฐบาลได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติได้ จะยิ่งทำให้รัฐบาลได้รับการยอมรับและความนิยมจากประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยม หรือความต้องการของประชาชน ประชาชนอาจรวมตัวกันคัดค้านเพื่อกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย หรืออาจมีผลรุนแรงถึงขั้นทำให้รัฐบาลต้องลาออก หรือยุบสภา ดังนั้นนโยบายสาธารณะมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล

1.2.2 ข้าราชการ นโยบายสาธารณะซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐบาล และรัฐบาลผลักดันให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติโดยข้าราชการจึงมีความสำคัญต่อข้าราชการในฐานะผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ หรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

1.2.3 ประชาชน การปกครองในระบอบประชาธิปไตย นโยบายสาธารณะถูกกำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นตัวแทนของประชาชน เมื่อกำหนดนโยบายแล้ว ข้าราชการจะนำนโยบายไปปฏิบัติ ผู้ที่รับผลจากปฏิบัติตามนโยบายก็คือประชาชน ดังนั้นนโยบายมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกรัฐบาล และมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาชนมีสิทธิเลือกนโยบายด้วยตนเองผ่านพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประชาชนก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้น แต่การปกครองในระบอบเผด็จการประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายอย่างเดียว สรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในรูปแบบใดการดำรงชีวิตของประชาชนจะถูกกำกับโดยนโยบาย

1.2.4 ผู้ศึกษานโยบายสาธารณะ ปัจจุบันมีการเปิดสอนเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในหลายมหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ดังนั้นนโยบายสาธารณะจึงมีความสำคัญต่อผู้ศึกษา เพื่อทำการวิเคราะห์ เสนอแนะและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะนโยบายสาธารณะ มีความสำคัญต่อประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวม เนื่องจากเป็นตัวกำหนดผลประโยชน์ของประเทศ และกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ

1.3 ประเภทของนโยบายสาธารณะ

นักวิชาการได้แบ่งประเภทของนโยบายสาธารณะไว้อย่างหลากหลาย แต่เมื่อนำมาจัดหมวดหมู่แล้วสามารถแบ่งออกโดยใช้เกณฑ์ 4 ลักษณะ ได้แก่

1.3.1 แบ่งประเภทตามลักษณะเนื้อหา และวัตถุประสงค์ของนโยบาย

(ก.)นโยบายเกี่ยวกับการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ เป็นนโยบายที่มีเนื้อหาและวัตถุประสงค์เพื่อต้องการจัดระเบียบของสังคมให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ประชาชนมีการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ซึ่งนโยบายสาธารณะประเภทนี้จะเป็นกฎ ข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนกระทำหรืองดเว้นการกระทำตามที่กำหนดไว้ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติจะได้รับโทษตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น นโยบายการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545

(ข.) นโยบายเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากร เป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดรายละเอียดเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งทรัพยากรด้านเศรษฐกิจ (สินค้า บริการ) ทรัพยากรการเมือง (เกียรติยศ ชื่อเสียง) ทรัพยากรทางสังคม (ค่านิยม สถานะทางสังคม) โดยรัฐต้องกระจายให้แก่สมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เช่น นโยบายการประกันสังคม นโยบายการรักษาพยาบาล นโยบายเรียนฟรี 15 ปี

(ค.) นโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรเสียใหม่ เป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะดำเนินการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรต่าง ๆ ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม และความสงบสุขของสังคม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการเป็นระยะตามสภาวการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นโยบายภาษีอากร นโยบายการปฏิรูปที่ดิน

1.3.2 แบ่งประเภทตามลักษณะขอบข่ายผลกระทบของนโยบาย นักวิชาการที่แบ่งตามลักษณะนี้ เช่น

เดวิด อีสตัน (Davis Eston.1953 :129) ได้แบ่งประเภทของนโยบายสาธารณะโดยการพิจารณาว่านโยบายแต่ละประเภทที่ได้กำหนดขึ้นมานั้นได้ส่งผลบังคับใช้ไปยังหมู่ประชาชนมากน้อยเพียงไร ซึ่งสามารถจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

(ก.)นโยบายที่กำหนดออกมาเพื่อใช้บังคับต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะ เช่น นโยบายเพิ่มภาษีที่ดิน นโยบายบัตรเครดิตเกษตรกร นโยบายรถยนต์คันแรก

(ข.)นโยบายที่มีผลกระทบหรือใช้บังคับกับสมาชิกของสังคมทั้งหมด เช่น นโยบายรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน นโยบายรถไฟฟรี เป็นต้น

1.3.3 แบ่งประเภทตามลักษณะกระบวนการของนโยบายสาธารณะ นักวิชาการที่แบ่งตามลักษณะนี้ เช่น

(ก.)ขั้นนโยบายสาธารณะ (Public policy) ซึ่งเป็นขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายหรือตั้งใจไว้ว่าต้องการกระทำเช่นนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ ขั้นตอนเริ่มต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะ โดยปกตินโยบายสาธารณะดังกล่าวจะเป็นนโยบายสาธารณะที่สมบูรณ์ได้นั้นต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา กล่าวคือ เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา หรือมีการประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบเสียก่อน

(ข.) ขั้นผลผลิตของนโยบาย (Policy outputs) เป็นขั้นตอนที่แสดงให้เห็นถึงผลของนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการ กล่าวคือ เมื่อมีการประกาศใช้นโยบายสาธารณะ และมีการดำเนินการตามนโยบายตามกลไกของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลคาดหวังผลการดำเนินการของนโยบายตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบาย เช่น นโยบายรักษาฟรีอย่างมีคุณภาพ ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลย่อมคาดหวังให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เป็นต้น

(ค.) ขั้นผลกระทบของนโยบาย (Policy impacts) เป็นขั้นตอนที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งผลกระทบในเชิงบวก หรือผลกระทบในเชิงลบ รวมทั้งอาจจะเป็นผลกระทบที่ผู้กำหนดนโยบายคาดการณ์ไว้หรือไม่ก็ได้

1.3.4 แบ่งประเภทตามลักษณะกิจกรรม หรือภารกิจสำคัญของรัฐบาล

นักวิชาการที่แบ่งตามลักษณะนี้คือ โธมัส อาร์ ดาย (Thomas R. Dye. 1972) โดยแบ่งตามภารกิจของสหรัฐอเมริกาไว้ 12 ประเภท ได้แก่

 นโยบายป้องกันประเทศ

 นโยบายต่างประเทศ

 นโยบายการศึกษา

 นโยบายสวัสดิการ

 นโยบายการรักษาความสงบภายใน

 นโยบายทางหลวง

 นโยบายภาษีอากร

 นโยบายเคหะสงเคราะห์

 นโยบายประกันสังคม

 นโยบายสาธารณะสุข

 นโยบายพัฒนาชุมชน/ตัวเมือง

 นโยบายทางเศรษฐกิจ


1.4 ประโยชน์ของการศึกษานโยบายสาธารณะ

นโยบายสาธารณะเป็นแนวทางหรือเป็นกรอบความคิดในการพัฒนาประเทศ ถ้าประเทศขาดนโยบายการบริหารประเทศแล้วนั้นจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศจะกำหนดรูปแบบนโยบายในการที9จะทำให้ประเทศได้รับการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น จุดมุ่งหมายของการกำหนดนโยบายจะถูกกำหนดขึ้น เพื่อเป็นการให้คนในประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งได้รับแนวความคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ประโยชน์ของการศึกษานโยบายสาธารณะสามารถแยกออกเป็น ดังนี้

1.4.1 การศึกษานโยบายสาธารณะสามารถทำให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตว่าเมื่อรัฐดำเนินการนโยบายสาธารณะไปแล้วนั้น จะเกิดผลประโยชน์แก่ใคร หน่วยงานใดจะเป็นกำลังสำคัญของการดำเนินนโยบาย ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินนโยบายมีอะไรบ้างและใครหรือกลุ่มใดจะมีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย นอกจากนี้ยังควรศึกษาถึงสาเหตุของการกำหนดนโยบายว่ามีสาเหตุมาจากอะไรและมีรูปแบบกระบวนการบริหารนโยบายอย่างไร เพื่อที่ว่าจะสามารถพยากรณ์ได้ว่านโยบายนั้น จะสามารถประสบความสำเร็จดังที่ได้มุ่งหวังหรือไม่

1.4.2 การศึกษานโยบายสาธารณะทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ เป็นการวิเคราะห์ถึงนโยบายสาธารณะว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดที่จะสามารถนำพาประเทศให้ไปสู่ความเจริญได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดีจะต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงตามที่กำหนด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีประสิทธิภาพในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินนโยบายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาศักยภาพของนโยบายนั้น ๆ ว่าจะสามารถนำพาประเทศให้มีความทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ได้หรือไม่ ในเรื่องการค้า-การลงทุน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศได้

1.4.3 การศึกษาถึงแนวทางการเป็นไปได้ของนโยบายสาธารณะ การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะจะต้องทำการวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ข้อดี – ข้อเสียของนโยบาย โดยอาศัยศาสตร์ต่าง ๆ มาศึกษาช่วยในการวิเคราะห์ เช่น ตรรกศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น แนวการศึกษาวิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ศึกษาทำความเข้าใจมากขึ้นในรายละเอียดของนโยบายนั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นการลดการวิพากษ์การวิจารณ์อย่างไร้กฎเกณฑ์และสามารถเพิ่มความเชื่อถือต่อตัวนโยบายได้

1.5 กระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ

กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรืออาจเรียกว่าขั้นตอนในการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญหลายประการ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบาย ในที่นี้จะขอสรุปกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ในขั้นตอนนี้ 3 ประการใหญ่ ๆ คือ การก่อตัวของนโยบาย การเตรียมเสนอร่างนโยบาย การอนุมัติและการประกาศนโยบาย ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป


1.5.1 การก่อตัวของนโยบายสาธารณะ

“การก่อตัวของนโยบาย” อาจเรียกว่า “การก่อรูปนโยบาย” หรือ “การก่อตัวของปัญหา” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Policy Formation” หมายถึง การสร้างประเด็นปัญหาในเชิงนโยบายสาธารณะหรือการทำให้ปัญหาสาธารณะถูกบรรจุเข้าสู่วาระและได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบาย (Agenda Setting) (ทศพร ศิริสัมพันธ์. 2539 : 124) หรือการก่อตัวของนโยบายหมายถึง การนำประเด็นปัญหาสาธารณะบางประการที่ได้รับการยอมรับเข้าสู่ความสนใจของผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจในลำดับต่อไป (ธโสธร ตู้ทองคำ. 2546 : 23) ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจัดเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งเริ่มด้วยการระบุสภาพปัญหาสาธารณะ (Public Problem) ให้ชัดเจนเสียก่อนว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของใคร ใครได้รับความเดือดร้อนบ้าง ถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปแก้ไขจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาถ้ารัฐบาลเข้าไปแก้ไขใครจะได้ประโยชน์และใครจะเสียประโยชน์ และใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ การก่อตัวของนโยบายจึงมิใช่เพียงแต่ระบุปัญหาสาธารณะเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการนำนโยบายไปปฏิบัติอีกด้วย ทั้งนี้เพราะว่าปัญหาสาธารณะจะได้รับการแก้ไขให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นสำคัญในส่วนนี้จะได้นำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรมย่อยที่สำคัญของขั้นตอนการก่อตัวของนโยบายตามลำดับดังนี้

• การระบุปัญหา ขั้นระบุปัญหาเป็นกิจกรรมแรกของการก่อตัวของนโยบาย ซึ่งโดยทั่วไปนโยบายสาธารณะมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่จะมีหรือเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมีปัญหาหรือปัญหาสาธารณะก่อนเสมอ “ปัญหา”และ “ปัญหาสาธารณะ” นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน “ปัญหา” (Problem) หมายถึง ความต้องการของมนุษย์ ความขาดแคลน หรือความไม่พึงพอใจที่กำหนดด้วยตนเองหรือกำหนดโดยบุคคลอื่นซึ่งต้องแสวงหาทางบรรเทา (Jones. 1981 : 17) ให้เบาบางลงไป หรือ “ปัญหา” คือ สภาพการณ์ที่ส่งผลก่อให้เกิดความต้องการหรือความไม่ พึงพอใจทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมแก่ปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ และบุคคลเหล่านั้นพยายามหาทางแก้ไขหรือบำบัดให้ปัญหานั้นเบาบางหรือหมดสิ้นไป (ทศพร ศิริสัมพันธ์. 2539 : 125) หรือปัญหาหมายถึงสภาพที่ต้องการให้เป็นไปในอนาคตที่มีทีท่าว่าจะไม่ตรงกับสภาพ ที่ต้องการให้เป็นหรือมีขึ้น (วีระพล สุวรรณนันต์. 2534 : 1) หากพิจารณาจากความหมายดังกล่าว “ปัญหา” จึงเปรียบได้กับ “ทุกข์” ตามหลักพุทธศาสนา อันเป็นความคับข้องใจ ความขาดแคลน ความไม่พอดี ซึ่งลักษณะของปัญหาที่พบจะมีทั้งปัญหาระดับปัจเจกบุคคล (Individual) หรือปัญหาส่วนบุคคล และปัญหาสาธารณะ (Public Problem) หรือปัญหาส่วนรวม สำหรับปัญหาตามความหมายในเชิงนโยบาย หมายถึง สภาพการณ์ที่ก่อให้เกิดความต้องการ (Need ) ความขาดแคลน (Deprivation) หรือความไม่พอใจ (Dissatisfaction)ซึ่งส่งผลให้มีการเสาะแสวงหาแนวทางแก้ไขโดยการแสวงหาแนวทางนี้ อาจจะทำโดยผู้ประสบปัญหาเอง หรืออาจมีการดำเนินการแทน โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ก็ได้ เช่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหาที่มักเกิดจากความขาดแคลน การถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุน ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นผลมาจากความต้องการพื้นฐานเกี่ยวกับที่ดินทำกิน เป็นต้น “ปัญหาสาธารณะ” (Public Problem) หมายถึง สภาพการณ์ที่เกิดช่องว่างระหว่างความมุ่งหวังกับความเป็นจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่และการพัฒนาสังคม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบไม่เพียงแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบุคคลอื่นในสังคมด้วยและต้องการ การแก้ไขบรรเทาปัญหาในลักษณะที่เป็นระบบ (ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. 2539 : 155) เพราะปัญหาสาธารณะนั้นไม่มีความเป็นเอกเทศ โดยที่เมื่อเกิดปัญหาหนึ่งขึ้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายจนกลายเป็นลูกโซ่ของปัญหา (Chain Problem) ปัญหาสาธารณะจึงมักเป็นปัญหาที่มีผลกระทบเชิงลบแก่ประชาชนจำนวนมาก และคนเหล่านั้นไม่พึงปรารถนา นอกจากนั้น แอนเดอร์สัน (Anderson. 2000 : 88) ยังกล่าวว่า ปัญหาสาธารณะเป็นสภาวการณ์ที่ทำให้เกิดความอดอยากยากจน ทำให้มนุษย์เกิดความต้องการ ทำให้เกิดความไม่พอใจ และทำให้มีการแสวงหาวิธีจะมาบรรเทาเงื่อนไขหรือสภาวะดังกล่าว ขณะเดียวกัน ดันน์ (Dunn. 1994 : 140-141) ได้กล่าวไว้ว่า ปัญหาสาธารณะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน (Interdependence) ขาดความเป็นปรนัย (Subjective) มีภาพมายา (Artificiality) และมีความเป็นพลวัตร (Dynamics) มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมักผันแปรไปตามกาลเวลา ปัญหาสาธารณะตามความหมายในเชิงนโยบายก็ควรจะเป็นปัญหาของสังคมโดยส่วนรวม (Public Problems) ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล (Private Problems) คือ ต้องเป็นปัญหาที่มีผลกระทบกับคนจำนวนมากทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอ้อม โดยบุคคลเหล่านี้จะต้องมีความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังนั้นการพิจารณาว่าปัญหาสาธารณะคืออะไร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาสาธารณะหรือปัญหานโยบาย (Policy Problem) นั้น เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและเข้าใจยาก บางครั้งมองผิวเผินอาจไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าไปศึกษาและสำรวจข้อมูลแบบเจาะลึก อาจพบว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ดังนั้นการระบุประเด็นปัญหาจึงต้องกระทำอย่างรอบคอบรัดกุม ต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็นปัญหาส่วนบุคคลอะไรเป็นปัญหาสาธารณะ ผู้ที่กำหนดปัญหาหรือระบุปัญหาจะต้องพิจารณาปัญหาสาธารณะ หรือปัญหานโยบายจากคุณลักษณะต่อไปนี้

ก. ต้องเป็นปัญหาสาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากมิใช่ปัญหาส่วนบุคคลหรือปัญหาของคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คน

ข. ต้องเป็นสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่พึงประสงค์หรือไม่พึงพอใจหรือมีสภาพวิกฤต (Crisis) และเป็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขโดยรัฐบาลหรือหลาย ๆ ฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังโดยเร็ว ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหามลภาวะ ปัญหายาเสพติดให้โทษ ปัญหาโสเภณีเด็ก ปัญหาอุบัติเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ปัญหาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคหวัดมรณะ (SARS) ปัญหาโรคไข้หวัดนก เป็นต้น

ค. ต้องเป็นปัญหาที่มีการยอมรับร่วมกันระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะการยอมรับว่าเป็นปัญหาจริงจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรงจากปัญหานั้น และปัญหาเหล่านั้นมีมากเพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายได้ตระหนักถึงความสำคัญ และพยายามแสวงหาวิธีการแก้ไขให้เบาบางลงไปหรือหมดสิ้นไป เช่น ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำความผิด ปัญหาความการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้ ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร เป็นต้นสาเหตุของการหยิบยกปัญหาขึ้นเป็นปัญหาเชิงนโยบายตามแนวคิดของแอนเดอร์สัน และคณะ (Anderson & Others) จะพบว่า สำหรับความสำคัญของปัญหาสาธารณะหรือปัญหานโยบายนั้น อาจจำแนกได้หลายระดับ(สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. 2549 : 322) ดังนี้

ก. ความสำคัญระดับท้องถิ่น เป็นปัญหาสาธารณะที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งและมีผลกระทบไม่กว้างขวางมากนัก แต่ถ้ารัฐบาลปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ไข ปัญหาก็อาจลุกลามขยายวงกว้างเป็นปัญหาระดับภูมิภาค หรือระดับชาติต่อไปได้ อาทิ ปัญหาราคาน้ำมันแพงทำให้ชาวประมงเดือดร้อน ปัญหาราคาลำไยของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนตกต่ำ ปัญหาการขาดสารไอโอดีนของเด็กวัยก่อนเรียนในบางอำเภอของจังหวัดในภาคเหนือ ปัญหาน้ำเสียบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ปัญหาการขาดสาธารณูปโภคในบางจังหวัด เป็นต้น

ข. ความสำคัญระดับภูมิภาค เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค ซึ่งมีผลกระทบกว้างขวางกว่าปัญหาระดับท้องถิ่น อาทิ ปัญหาผู้ก่อการร้าย 3 จังหวัดภาคใต้ ปัญหามลภาวะชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปัญหาการย้ายถิ่นของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคให้หมดสิ้นไป หรือพัฒนาภูมิภาคต่างๆ ให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกัน

ค. ความสำคัญระดับชาติ เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศทุกภูมิภาค หรือเกิดอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษา ปัญหายาเสพติดให้โทษ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาความมั่นคงของประเทศ เป็นต้นการจำแนกปัญหาสาธารณะออกตามระดับการบริหารและการปกครองของประเทศจะทำให้ผู้กำหนดนโยบาย พิจารณาปัญหาได้ชัดเจน และสามารถตัดสินใจเลือกทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญก่อนหลังให้บรรลุผลสำเร็จได้ง่ายปัญหาสาธารณะหรือปัญหานโยบายนับว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาอื่น ๆ ตลอดเวลา นอกจากนี้ปัญหาเหล่านั้นอาจกลายเป็นปัญหาแปลกใหม่ ซับซ้อนยากแก่การแก้ไขโดยใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ดังนั้นที่รัฐบาลหรือผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้สำเร็จ โดยกำหนดนโยบายที่เหมาะสมสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ก็จะทำให้รัฐบาลได้รับความศรัทธาและความเชื่อถือจากประชาชน และจะส่งผลให้รัฐบาลบริหารประเทศได้ยาวนาน และมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่ง ในทางตรงข้ามถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับฟังปัญหาสาธารณะเหล่านั้นหรือกำหนดนโยบายไม่เหมาะสม และไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ประชาชนย่อมขาดความศรัทธาต่อรัฐบาล และอาจส่งผลให้รัฐบาลต้องพ้นจากอำนาจในการบริหารประเทศได้ในที่สุด หรืออาจไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศอีก

• บุคคล หรือองค์การที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการก่อรูปนโยบายสาธารณะ ในการก่อรูปนโยบายสาธารณะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่วมเสนอปัญหาสาธารณะหรือริเริ่มในการก่อรูปนโยบายอาจเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้น ๆ โดยตรง หรือฝ่ายการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ดังจะได้กล่าวรายละเอียดต่อไปนี้

ก.องค์การราชการ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย กระทรวงทบวง กรม ต่าง ๆ ซึ่งองค์การเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไปถึงระดับอุดมศึกษา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกรรม กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดสวัสดิการ แก่ประชาชนในสังคม เป็นต้น ข้าราชการของหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ เพื่อเสนอเป็นทางเลือกในการกำหนดเป็นนโยบายให้แก่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดนโยบายเป็นผู้สั่งการ หรือประกาศออกมาในรูปของกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆใช้บังคับให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาแก่ประชาชน โดยทั่วไปข้าราชการเหล่านี้แม้จะเป็นกลไกของรัฐ แต่บรรดาข้าราชการระดับสูงเหล่านี้มีอำนาจหรือมีอิทธิพลไม่น้อยที่จะทำให้เกิดความเกรงใจในฝ่ายการเมือง เพราะทำงานมานานมีประสบการณ์ ตลอดจนบางคน บางหน่วยงานมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มาก จึงมีบทบาทสำคัญในการก่อรูปนโยบายหรือกำหนดระเบียบวาระนโยบาย ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและประเทศไทยที่ข้าราชการต่าง ๆ ได้กลายเป็นแหล่งข่าวสารข้อมูลสำหรับการกำหนดนโยบาย กรณีที่นโยบายที่กำหนดขึ้นมานั้นมีเนื้อหาสาระสลับซับซ้อนซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีเวลาเพียงพอที่จะหาข้อมูล ผลก็คือหน่วยงานฝ่ายบริหารหรือข้าราชการระดับสูงจึงเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสำคัญ ๆ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าองค์การราชการเป็นองค์การที่มีความสำคัญมากในการก่อตัวของนโยบาย

ข.ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีจะมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มหรือก่อรูปนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง จะต้องเสนอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ถ้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติก็สามารถประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีและมีผลบังคับใช้ เพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติได้ทันที กรณีต้องประกาศเป็นพระราชบัญญัติก็ต้องนำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะประกาศเป็นกฎหมายได้ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบก็อาจให้เจ้ากระทรวงต้นสังกัดนำไปพิจารณาทบทวนใหม่หรืออาจตกไปเลยก็ได้นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีอาจเสนอความเห็นต่อผู้นำฝ่ายบริหาร หรือหัวหน้ารัฐบาลในกรณีที่เห็นว่าควรมีนโยบายใหม่ ๆ เพื่อให้การบริหารประเทศประสบความสำเร็จตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อประชาชน เช่น มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 ตุลาคม 2547 ได้เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยเล็กทรอนิกส์และการปรับปรุงระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) โดยการจัดซื้อจัดจ้างใด ๆ ที่จะมีการลงนามในสัญญากันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป ให้ดำเนินงานตามระบบดังกล่าว โดยการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปที่มีมูลค่าไม่สูงนักให้ใช้วิธี e-Shopping ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าการดำเนินงานสูง หรือการประมูลแข่งขันเรื่องราคา หรือผลประโยชน์อื่นที่เสนอให้รัฐ เช่นการประมูลรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) หรือการเข้าร่วมงานกับรัฐให้ใช้วิธี e-auction ทั้งนี้ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐทุกแห่งถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

ค.ฝ่ายนิติบัญญัติ ถึงแม้ว่าฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีจะมีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของนโยบายมากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม แต่ในกรณีที่นโยบายของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีต้องประกาศเป็นพระราชบัญญัติ ฝ่ายบริหารจะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติเห็นชอบพระราชบัญญัตินั้นก็จะถูกนำไปประกาศใช้บังคับต่อไป ถ้าไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไป นอกจากนั้นผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถริเริ่มก่อตัวของนโยบายได้เช่นกัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนในแต่ละเขตที่ได้สัมผัสกับปัญหาโดยตรงได้นำเสนอปัญหาเหล่านั้นต่อสภา เพื่อนำไปสู่การก่อตัวเป็นนโยบายได้เช่นเดียวกัน และในหลายประเทศฝ่ายนิติบัญญัติยังสามารถยื่นญัตติหรือยื่นกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อเป็นการริเริ่มก่อตัวของนโยบายให้ฝ่ายบริหารรับไปดำเนินการต่อไป รวมทั้งการใช้อำนาจของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของรัฐสภา เป็นช่องทางในการริเริ่มการก่อรูปนโยบายและผลักดันให้ฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสาธารณะให้แก่ประชาชนได้เช่นกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นองค์การที่มีส่วนสำคัญในการก่อตัวของนโยบายเช่นเดียวกัน

ง.กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) ในสังคมประชาธิปไตยจะประกอบไปด้วยกลุ่มหลากหลาย หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หรือต่อสู้ทางการเมืองเพื่อ “ผู้ที่ไร้เสียงและไร้อำนาจ” ซึ่งเราจะพบในรูปของ กลุ่มต่างๆ สหภาพ สหพันธ์ และองค์การพัฒนาเอกชน (NGO.) อาทิ ชมรม สมาคม มูลนิธิ สมัชชา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน NGO ที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 18,000 องค์กร แต่ในจำนวนนี้มีไม่กี่องค์กรที่มีความมั่นคงในระยะยาว (ใจ อึ้งภากรณ์. 2546 : 96) กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องหรือผลักดันให้รัฐบาลสนใจปัญหาสาธารณะ และริเริ่มในการก่อตัวของนโยบาย เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาตามความต้องการของกลุ่มที่เดือดร้อนหรือกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของคนจน เช่น “สมัชชาคนจน” และ “สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน” (สกย.อ.) สมัชชาคนจนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2538 โดยมีตัวแทนชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทั้งในประเทศและอีก 10 ประเทศในทวีปเอเชียที่ร่วมก่อตั้งครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการรวมกันเป็นเครือข่ายเพื่อเป็นเวทีรวมพลังแห่งความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และประสานความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลุ่มปัญหาที่สมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ได้แก่ ปัญหาเรื่องเขื่อน ปัญหาเรื่องป่าไม้ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาชุมชนแออัด ฯลฯ กลุ่มผลประโยชน์จะมีแนวคิดคล้ายคลึงกับ “ประชาสังคม” (Civil Society) ซึ่งหมายถึงการรวมกันของประชาชนที่เกิดจากการตระหนักถึงสิทธิ สรีภาพและและหน้าที่ที่มีต่อสังคม โดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือชุมชนและ ถักทอเป็นเครือข่ายหรือขบวนการประชาสังคมในการผลักดันประเด็นปัญหาสาธารณะเข้าสู่กระบวนการก่อตัวเป็นนโยบาย (ธโสธร ตู้ทองคำ. 2546 : 25) จึงอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มผลประโยชน์และขบวนการประชาสังคมเหล่านี้เป็นองค์การที่มีความสำคัญยิ่งต่อการผลักดันให้มีการก่อตัวของนโยบาย เพื่อที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะได้กำหนดเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว

จ.สื่อมวลชน เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการเชื่อมความรู้สึกนึกคิดของสังคม สื่อมวลชนจึงต้องเป็นภาคีที่สำคัญของกระบวนการกำหนดประเด็นปัญหานโยบาย เพราะสื่อมวลชนสามารถรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและข้อเสนอแนะของตนเอง เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ อาจเปิดรับข้อเสนอปัญหาจากประชาชน หรือสถานีโทรทัศน์อาจมีรายการให้ประชาชนมาร่วมรายการแสดงความคิดเห็น การสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนต่อสื่อมวลชนนั้นจะเป็นช่องทางการนำประเด็นปัญหาเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง เพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป

ฉ.ผู้แทนองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สสม.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น ผู้แทนองค์กรอิสระเหล่านี้สามารถรับฟังปัญหาจากประชาชน หรือเสนอข้อมูลปัญหาจากผลการประชุมของคณะกรรมการ แล้วรวบรวมเป็นประเด็นปัญหาเสนอต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินนโยบาย ช.องค์กรสนับสนุนการวิจัยนโยบาย เช่น นักวิจัยหรือนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น ซึ่งองค์กรเหล่านี้อาจมีโครงการวิจัยนโยบายที่ทำเสร็จแล้วหรือกำลังทำ เราก็อาจนำมาสังเคราะห์เป็นประเด็นปัญหานโยบายได้ ทั้งนี้ทำให้ประหยัดเวลาในการสำรวจข้อมูลใหม่ และลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน หรือถ้าไม่มีผลงานวิจัยที่จะนำมาสังเคราะห์องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ก็ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเชิงนโยบาย โดยอาจศึกษาจากประเด็นนโยบายจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือศึกษาปัญหาจากพื้นที่จริง ก็จะทำให้ได้ประเด็นปัญหาที่แท้จริง และสามารถนำประเด็นปัญหาเหล่านี้เผยแพร่และผลักดันเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบายได้เช่นกัน ซ.ประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะมากที่สุด ดังนั้นจึงควรมีส่วนร่วมในการบอกปัญหาและความต้องการได้ดีที่สุด ประชาชนอาจเป็นประชาชนในพื้นที่หรือกลุ่มเฉพาะ เช่น คนยากจน คนพิการ คนเร่ร่อน คนไร้อาชีพ ฯลฯ สามารถเสนอปัญหาและความต้องการผ่านเวทีประชาชนหรือเวทีนโยบายสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีเครือข่ายและเวทีภาคประชาชนมากพอสมควรที่จะช่วยประสานงานให้ และนำปัญหาเหล่านั้นสู่กระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบายการระบุปัญหาสาธารณะนั้นถ้ามาจากความคิดเห็นของกลุ่มหลากหลายก็ย่อมจะเป็นผลดี เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลหลายทาง ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อที่ผู้กำหนดนโยบายจะได้นำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป สำหรับประเทศไทยการกำหนดปัญหาสาธารณะนั้นมักจะกำหนดโดยองค์การราชการ ฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติ และตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์บ้าง แต่ยังมีน้อย เพราะกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทยรวมตัวกันไม่เหนียวแน่น องค์กรขาดเอกภาพ และขาดผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็งและเข้าใจบทบาทหน้าที่ แต่ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเกือบเต็มรูปแบบ กลุ่มผลประโยชน์จะมีอิทธิพลและมีบทบาทในการก่อตัวของนโยบายสูง ซึ่งสอดคล้องกับตัวแบบการกำหนดนโยบายที่เรียกว่าตัวแบบกลุ่ม (Group Model) เพราะเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการเลือกตั้งผู้บริหารประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสนใจต่อการตอบสนองการเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์ค่อนข้างมาก

• การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา เมื่อระบุปัญหาได้แล้วว่า ปัญหาใดจัดว่าเป็นปัญหาสาธารณะ ผู้ที่ทำการศึกษาวิเคราะห์จะต้องรวบรวมข้อมูล (Data) เกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ ในประเด็นต่อไปนี้ ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาโดยพิจารณาว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นบางฤดูกาลหรือตลอดทั้งปี สภาพของปัญหามีความรุนแรงเพียงใด ลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ใครได้รับผลกระทบจากปัญหาบ้าง เคยมีองค์การใดเข้าไปแก้ไขปัญหาบ้าง ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) เช่น การสำรวจข้อมูลด้วยตนเอง การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม เป็นต้น และแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) เช่น รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร บทความบทวิจัย สื่อโสตทัศนวัสดุ หรือข้อมูลที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้รวบรวมเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อนแล้ว สิ่งที่ควรตระหนักถึงในการรวบรวมข้อมูลปัญหาก็คือ การคำนึงถึงความแม่นตรง (Validity) และความเชื่อถือได้ (Reliability) ของข้อมูล ความทันสมัยของข้อมูลและความเพียงพอของข้อมูล เพราะการรวบรวมข้อมูลได้มาก หากเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงประเด็น ข้อมูลล้าสมัยก็อาจทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน

• การวิเคราะห์ปัญหา ปัญหาสาธารณะต่าง ๆ มักไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยเอกเทศ แต่มีลักษณะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันซึ่งผู้ที่ศึกษาจะต้องทำการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและผลกระทบของปัญหา ตลอดจนการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา (Priority) เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกปัญหาที่จะนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหามิได้มีลักษณะที่สืบเนื่องมาจากปัจจัยหนึ่งเพียงปัจจัยเดียว แต่ปัญหาสาธารณะแต่ละปัญหามักประกอบด้วยหลายสาเหตุและบางสาเหตุก็เกี่ยวพันโยงกันเป็น “ลูกโซ่ของปัญหา” (Chain Problem) ซึ่งบางสาเหตุก็อาจแก้ไขได้ในระยะสั้น บางสาเหตุก็ต้องแก้ไขในระยะยาวบางสาเหตุก็แก้ไขไม่ได้ไม่ว่าจะระยะเวลาสั้นหรือเวลายาวก็ตาม และบางสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกที่เชื่อมโยงกันและกว้างไกล จนไม่อาจจะควบคุมได้ (ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. 2539 : 158) เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการวิเคราะห์ปัญหานั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะแนวทางแก้ไขปัญหาจะสัมฤทธิผลได้ก็ต่อเมื่อเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นมาโดยผ่านการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้แล้ว เมื่อได้มีการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาสาธารณะแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องนำปัญหาสาธารณะเหล่านั้นมาจัดลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนหลัง โดยมีการกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาปัญหาสาธารณะ ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาปัญหาที่องค์การสหประชาชาติ เสนอไว้มีดังนี้

ก.พิจารณาจากขนาดของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ถ้าปัญหานั้นเกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก หลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ หรือหลายจังหวัด แสดงว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาสาธารณะ เช่น ปัญหาภัยแล้ง จะเห็นว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบนั้นก็คือ เกษตรกรในชนบท รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในเขตเมืองด้วย

ข.พิจารณาจากขนาดความรุนแรงของปัญหา ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงมาก และถ้าปล่อยทิ้งไว้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนในชุมชนและสังคมตลอดจนสิ่งแวดล้อม ลักษณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณะ เช่น ปัญหายาเสพติดให้โทษ ปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงต่อสังคมและประเทศชาติมาก ดังจะเห็นจากสถิติ การจับกุม ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพยาเสพติดให้โทษมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีดังนั้นรัฐบาลปัจจุบันจึงได้ประกาศทำสงครามกับยาเสพติดให้โทษเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ และกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษแบบเข้มขึ้นมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปี พุทธศักราช 2546 เป็นต้นมา

ค.พิจารณาความเร่งด่วนของปัญหา ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนรอเวลาไม่ได้จะทำให้เกิดผลเสียหายมาก ปัญหาเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณะที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยธรรมชาติจากคลื่นใต้น้ำสึนามิ (Zhunami) ปัญหาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคหวัดมรณะ (SARS) ปัญหาไข้หวัดนก เป็นต้น

ง.พิจารณาจากขนาดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหาบางปัญหาเกิดขึ้นแล้วอาจไม่เห็นผลกระทบในปัจจุบัน แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดผลเสียหายในอนาคตได้ เช่น ปัญหาเด็กวัยก่อนเรียนขาดสารอาหาร ปัญหามลภาวะ ปัญหาโรคเอดส์ เป็นต้น

จ.พิจารณาจากลักษณะของการยอมรับร่วมกันในสังคม ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นคนส่วนใหญ่ในท้องถิ่น ภูมิภาค หรือสังคมยอมรับร่วมกันว่าเป็นปัญหาและความพยายามผลักดันให้มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหา แสดงว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาสาธารณะอย่างแท้จริง มิใช่ปัญหาที่ผู้นำประเทศหรือพรรคการเมืองหรือนักการเมืองสนใจเท่านั้น เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น

• เครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา ในการวิเคราะห์ปัญหาสาธารณะว่า ปัญหาใดมีความสำคัญมากหรือน้อยนั้น โดยปกติจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์หลายประการ เช่น การระดมสมอง (Brainstorming) การใช้เทคนิคเดลฟาย (Delphi) การใช้ตารางในการวิเคราะห์ปัญหา การใช้แผนภูมิก้างปลา เป็นต้น โดยทั่วไปหน่วยงานราชการมักนิยมใช้การระดมสมอง และการใช้ตารางในการวิเคราะห์ปัญหาเพราะเป็นการระดมความคิดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์ปัญหาแม่นตรงและมีความเชื่อถือได้

• การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา (Priority) นั้นนับว่าสำคัญมาก จะดำเนินการเมื่อนักวิเคราะห์นโยบายได้ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาอย่างถ่องแท้ แล้วก็จะให้น้ำหนักคะแนนความสัมพันธ์ของปัญหาแต่ละปัญหา ถ้าปัญหาใดมีค่าคะแนนสูงสุดก็จะจัดลำดับความสำคัญไว้อันดับแรกและเรียงลำดับคะแนนของปัญหาไปเรื่อย ๆ จนถึงลำดับสุดท้าย ปัญหาที่มีความสำคัญมากก็มักจะได้รับการพิจารณาแก้ไขก่อน โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจจะให้ความสำคัญและเร่งให้เตรียมเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ โดยเร็ว โดยการกำหนดเป็นนโยบาย ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปปฏิบัติต่อไป

1.5.2 การเตรียมเสนอร่างนโยบายสาธารณะ

กิจกรรมที่สำคัญที่ต้องกระทำในขั้นตอนเตรียมเสนอร่างนโยบายสาธารณะประกอบด้วย

• การวางข้อกำหนดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของนโยบาย กิจกรรมในขั้นตอนนี้ ผู้ที่มีหน้าที่เตรียมเสนอร่างนโยบายจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของนโยบายให้ชัดเจน ครอบคลุม สามารถวัดได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ต่อไปนี้คือตัวอย่างนโยบายของรัฐบาลไทย (คำแถลงนโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์. 2552 : ออนไลน์) ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยหยิบยกมาจากนโยบายด้านนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประเด็นการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่กำหนดวัตถุประสงค์ว่า

1) สนับสนุนการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น

2) สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยึดหลักธรรมาภิบาลและปรับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความรับผิดชอบต่อชุมชน และมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการทำงาน ตลอดจนการจัดบริการสาธารณะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น

3) ปรับบทบาทและภารกิจการบริหารราชการระหว่างราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อสามารถดำเนินภารกิจที่สนับสนุนเชื่อมโยงกัน และประสานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง

4) บูรณาการความเชื่อมโยงของการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่นโดยสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภาค ตลอดจนเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนชุมชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผน

5) สนับสนุนให้มีการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ท้องที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดตั้งเป็นมหานคร

6) สร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรมและส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

7) จัดระบบงานให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็วมีประสิทธิภาพ โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และส่งเสริมพัฒนาระบบบริหารผลงานและสมรรถนะของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการส่งมอบบริการสาธารณะ พร้อมทั้งการพัฒนาข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการรุ่นใหม่ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญของภาคราชการในอนาคต

8) ปรับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เหมาะสมกับความสามารถ และประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่อาจแตกต่างกันตามพื้นที่ ตามการแข่งขันของการจ้างงานในแต่ละสายอาชีพที่เหมาะสม และตามความจำเป็นเพื่อรักษาคนเก่ง คนดีไว้ในราชการ รวมทั้งการสร้างความสมดุลของคุณภาพชีวิตข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีขวัญกำลังใจที่จะปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

1.5.3 การเสนอทางเลือก “ทางเลือก” (Alternative)

(ถวัลย์รัฐ วรเทพพุฒิพงษ์. 2541 :102) หมายถึง หนทางหรือวิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย ซึ่งทางเลือกของนโยบายแต่ละทางเลือกจะต้องมีเนื้อหา สาระและเหตุผลเป็นของตัวเอง หลักการและเหตุผลดังกล่าวนั้น สามารถประมวลได้จากสมมติฐานที่เชื่อถือได้ และมีข้อมูลสนับสนุนที่มั่นคง เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ย่อมหามาได้จากเอกสารรายงานสำคัญ ๆ และผลงานวิจัยของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ทางเลือกที่ดีควรมีอย่างน้อย 2 ทางเลือกขึ้นไป และจะต้องมีการวิเคราะห์แต่ละทางเลือกให้ชัดเจนถึงผลดี ผลเสีย หรือข้อเด่น ข้อด้อยของแต่ละทางเลือก เพื่อนำมาพิจารณาเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด หรือทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่า “การกลั่นกรองทางเลือก” (Screening The Alternative) เพื่อตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบายต่อไป ในการวิเคราะห์ทางเลือกนั้นมีเทคนิคและวิธีการทางด้านเศรษฐศาสตร์และวิทยาการจัดการหลายวิธีที่จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของทางเลือก อาทิ การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ (Cost – Benefit Analysis) การวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมเส้นตรง (Linear Programming) การประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility Assessment Technique) เป็นต้น การเสนอทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจเลือกเป็นนโยบายนั้นควรคำนึงถึงเกณฑ์ที่สำคัญคือ เกณฑ์ประสิทธิผล (Effectiveness) เกณฑ์ประสิทธิภาพ (Efficiency) เกณฑ์ความพอเพียง (Adequacy) เกณฑ์ความเป็นธรรม (Equity) เกณฑ์ความสามารถในการตอบสนอง (Responsiveness) และเกณฑ์ความเหมาะสม (Appropriateness) ทั้งนี้เพื่อการตัดสินใจเลือกนโยบายจะได้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

1.5.4 การจัดทำร่างนโยบาย

เมื่อผู้กำหนดนโยบายพิจารณาเลือกทางเลือกที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดได้แล้ว ก็จะนำทางเลือกนั้นมากำหนดเป็นนโยบาย โดยจะมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำเป็นร่างนโยบายเสียก่อน ซึ่งการจัดทำร่างนโยบายควรประกอบด้วย หลักการและเหตุผล จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์แนวทางและมาตรการ วิธีการดำเนินการ ผู้รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะดำเนินงานตามมาตรการที่กำหนด โดยต้องเขียนร่างนโยบายให้ชัดเจน มีความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ และจัดทำเป็นเอกสารเพื่อเสนอผู้มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติและประกาศเป็นนโยบายต่อไป


1.5.5 การอนุมัติและประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ

ในขั้นตอนของการตัดสินใจอนุมัติและประกาศเป็นนโยบายสาธารณะนั้นมีกิจกรรมย่อยที่จะต้องกระทำคือ การคัดเลือกข้อเสนอของนโยบาย การสร้างเสียงสนับสนุนทางการเมือง และการประกาศใช้นโยบายสาธารณะ ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีรายละเอียดดังนี้

การคัดเลือกข้อเสนอนโยบาย กิจกรรมในขั้นตอนนี้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสาธารณะจะต้องทำการตัดสินใจเพื่อคัดเลือกทางเลือกนโยบาย (Policy Alternative) ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งมีตัวแบบที่ช่วยในการตัดสินใจที่สำคัญ คือ ตัวแบบสมเหตุสมผล (Rational Model) ตัวแบบส่วนเพิ่ม (Incremental Model) หรืออาจใช้การผสมผสานของทั้งสองตัวแบบก็ได้ที่เรียกว่า ตัวแบบผสมผสาน (Mixed Scanning) คือ นำเอาข้อดีหรือจุดเด่นของตัวแบบทั้งสองมาผสมผสานกัน ผลของการดำเนินกิจกรรมในขั้นตอนนี้จะแสดงออกในลักษณะเป็นลักษณ์อักษร เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดพระราชกฤษฎีกา มติคณะรัฐมนตรี กฎระเบียบ คำสั่ง เป็นต้น การสร้างเสียงสนับสนุนทางการเมือง ก่อนที่จะประกาศข้อเสนอนโยบายที่ได้รับคัดเลือกเป็นนโยบายสาธารณะ กิจกรรมสำคัญที่ต้องกระทำคือ การสร้างเสียงสนับสนุนทางการเมืองซึ่งหมายความว่าจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก (Majorities) ในรัฐสภาหรือการพยายามโน้มน้าว (Persuasion) ให้กลุ่มการเมืองอื่นเชื่อมั่นในความถูกต้องต่อข้อเสนอนโยบายของตน ไม่คัดค้านหรือต่อต้าน นอกจากนั้นยังต้องฟังเสียงสนับสนุนจากกลุ่มหลากหลาย เช่น ประชาชน องค์การพัฒนาเอกชน (N.G.O.) นักวิชาการ สื่อมวลชน ฯลฯ ซึ่งผู้ตัดสินนโยบายอาจใช้รูปแบบการสร้างเสียงสนับสนุนทางการเมือง โดยการเจรจาต่อรอง (Bargaining) การเสนอให้รางวัล (Side Payment) หรืองบประมาณสนับสนุนเป็นพิเศษแก่กลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้น เพื่อหาเสียงสนับสนุนต่อข้อเสนอนโยบายก่อนที่จะอนุมัติและประกาศเป็นนโยบาย อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการโน้มน้าวการเจรจาต่อรอง หรือการเสนอให้รางวัลนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ข้อมูลเชิงประจักษ์ และเหตุผลที่สมจริงต่าง ๆ แล้ว ยังขึ้นอยู่กับ “ศิลป์” (Art) และภาวะผู้นำ (Leadership) ของผู้ตัดสินนโยบาย รวมทั้งการมีสถานการณ์เอื้ออำนวยด้วย ดังนั้นการสร้างเสียงสนับสนุนทางการเมืองนี้จึงนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะยืนยันความเห็นชอบของประชาชนในข้อเสนอนโยบายอย่างแท้จริง การประกาศใช้นโยบายสาธารณะ ขั้นตอนการประกาศใช้นโยบายเป็นผลโดยตรงจากการตัดสินใจเลือกนโยบาย ดังนั้นการประกาศใช้นโยบายจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางการเมือง ซึ่งการประกาศใช้นโยบายของแต่ละประเทศอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างตามรูปแบบการเมืองการปกครอง สำหรับประเทศที่มีรัฐบาลในระบบรัฐสภา เช่น ประเทศไทย การประกาศใช้นโยบายสาธารณะ กฎหมายได้กำหนดให้ออกกฎหมายรองรับนโยบายสาธารณะ ได้แก่ พระราชบัญญัติ ซึ่งตราขึ้นโดยสถาบันนิติบัญญัติ และพระราชกำหนดซึ่งฝ่ายบริหารตราขึ้นเป็นการชั่วคราวในกรณีเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องประกาศใช้ก่อนที่จะให้รัฐสภาพิจารณาให้ความยินยอม การตราพระราชกำหนดนั้นจะต้องเป็นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ รวมทั้งยังตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่เกิดจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยพระราชกฤษฎีกานี้มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาจะขัดกับพระราชบัญญัติไม่ได้ (เดโช สวนานนท์. 2544 : 51-53) นอกจากนี้กรณีนโยบายสาธารณะย่อย ๆ ในเรื่องเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของระบบราชการ หรือเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องเฉพาะหน่วยงานในระดับรอง ๆ ของระบบราชการ ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายอาจเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่า โดยอาจประกาศนโยบายสาธารณะในรูปของมติคณะรัฐมนตรี กฎกระทรวง ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศของส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ยกตัวอย่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การเกิดโรคระบาดทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ฉบับที่ 4/2546 (เพิ่มเติม) ประกาศ ณ วันที่ 3 เมษายน 2546 เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการ เพื่อควบคุมป้องกันการระบาดของโรคระบาดทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome : SARS ) เป็นต้น เมื่อผู้มีอำนาจอนุมัตินโยบายนั้นแล้ว ก็จะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอันมีผลบังคับใช้ต่อไป จะเห็นได้ว่ากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นมิใช่เรื่องง่าย แต่มีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่จะมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนการเตรียมเสนอร่างนโยบาย และที่สำคัญการอนุมัติและประกาศเป็นนโยบายนั้นยังขึ้นอยู่กับมุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจในการตัดสินนโยบายด้วย ซึ่งกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะสามารถสามารถอธิบายเชื่อมโยงกัน

1.6 ประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการกำหนดนโยบายสาธารณะภายใต้กรอบของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ได้โดยวิธีการดังนี้

1.6.1 การมีส่วนร่วมริเริ่ม ร่วมรับรู้ โดยกระบวนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 (กองราชการส่วนตำบล. 2544 : 42) โดยให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบายท้องถิ่น หรือนโยบายระดับชาติต่อไป

1.6.2 การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา ซึ่งประชาชนจะต้องทำตั้งแต่เริ่มคิดและตระหนักถึงปัญหา โดยใช้กระบวนการทำประชาสังคมหรือประชาคม (Civil Society) หมู่บ้านหรือประชาคมตำบล เช่น ตระหนักว่ามีปัญหาเรื่องจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องหาที่ทิ้งขยะ จึงจัดการให้คนมามีส่วนร่วมเพื่อคิดหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน กระบวนการมีตั้งแต่จัดเวทีคุยกันในกลุ่มเล็ก ๆ เคาะประตูบ้าน ใช้แบบสอบถาม แล้วประมวลข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกลั่นกรองปัญหา และเสนอต่อผู้มีอำนาจเพื่อตัดสินใจกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป จุดอ่อนของการทำประชาคมในสังคมไทยก็คือ ประชาชนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการคิด มักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าแสดงออก ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนไทย ตลอดจนความไม่รู้ ความเกรงใจ และไม่ชอบโต้แย้ง (บุญชัย ธีระกาญจน์ . 2552 : ออนไลน์) จึงทำให้ความคิดเห็นที่ได้เป็นของผู้มีอำนาจหรือผู้นำมากกว่าประชาชน

1.6.3 การมีส่วนร่วมเสนอความต้องการที่จำเป็นของประชาชน ตามเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยประชาชนอาจเสนอความต้องการผ่านทางตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ บุคคลเหล่านั้นก็จะนำความต้องการของประชาชนเข้าสู่กระบวนการทางการเมือง (Process) เพื่อพิจารณาตัดสินใจแล้วก็จะออกมาเป็นปัจจัยนำออก (Output) หรือนโยบายสาธารณะ และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

1.6.4 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกลั่นกรอง ตรวจสอบ วิเคราะห์ผลกระทบอันเกิดจากนโยบายของรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน ในขณะเดียวกันรัฐควรมีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเรื่องนั้นๆ

1.6.5 การมีส่วนร่วมเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะต่อไป ในการพัฒนาท้องถิ่นหรือประเทศชาตินั้น ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่าประชาชน เพราะเป็นผู้สัมผัสกับปัญหาโดยตรง ดังนั้นเมื่อเขารู้ปัญหาดี เขาก็ควรมีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของเขาด้วย

1.6.6 การมีส่วนร่วมในการผลักดันการตัดสินใจ (Decision – Making) ของรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย ทั้งนโยบายระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในรูปแบบของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร สมัชชาคนจน สหภาพแรงงาน สมาคมหรือชมรมต่าง ๆ ที่รวมกลุ่มกันผลักดันหรือเจรจาต่อรองให้รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเสนอของกลุ่ม ดังตัวแบบกลุ่ม (Group Model) ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มหลากหลายมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

1.6.7 ในกรณีที่การตัดสินนโยบายสาธารณะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อผลได้ผลเสียของประชาชน หรือ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่นเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน จะต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) หรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และได้รับความยินยอมของประชาชนในพื้นที่ก่อน เมื่อประชาชนยอมรับและสนับสนุน ก็จะนำไปสู่การอนุมัติและประกาศเป็นนโยบายต่อไป

1.6.8 การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้น อาจทำได้โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยภาคประชาชน และควรบัญญัติประเด็นต่าง ๆ ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่าชัดเจนและให้มีการบัญญัติกลไกการดำเนินการอย่างโปร่งใส

1.6.9 หากมีข้อขัดแย้งกันมาก การปรึกษาหารือหรือการรับฟังความคิดเห็นเฉย ๆ จะไม่เหมาะสมจำเป็นต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมที่ระดับสูงกว่า คือ การร่วมเจรจาหาข้อยุติ (Negotiation) หรือเจรจาโดยมีคนกลางกำกับกระบวนการ (Mediation) คนกลางที่มากำกับกระบวนการจะต้องไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ ผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสินใจคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายหรือคู่เจรจาหาทางออกที่ดีที่สุดโดยกระบวนเรียนรู้ร่วมกันจนทุกๆฝ่ายพอใจ

1.6.10 กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับสูงสุดคือการลงประชามติ ( Referendum)ว่าทางเลือกนั้น “เอา” หรือ “ไม่เอา” “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แม้วิธีการนี้จะดูดี แต่ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ หรือขาดจิตสำนึกทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย ผลของการลงประชามติที่มาจากการโน้มน้าวของบางคนหรือบางกลุ่มนั้น อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการกำหนดนโยบายได้ “กระบวนการมีส่วนร่วม” เป็นกระบวนการที่จะกระจายอำนาจจากผู้มีอำนาจที่แต่เดิมมักจะใช้อำนาจเหนือ (Power over หรือ Power against) ตามทฤษฎีผู้มีอำนาจชอบที่จะใช้อำนาจเหนือ เช่น แม่ซึ่งมีอำนาจมากกว่าลูก ก็มักจะใช้อำนาจเหนือลูก สั่งให้ลูกกลับบ้านก่อนค่ำ มาถึงวันหนึ่งลูกซึ่งโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ก็จะขอกลับบ้านดึก เพราะจะไปงานวันเกิดเพื่อน แม่ก็ยังใช้อำนาจเหนือให้กลับบ้านภายในหกโมงเย็น ถามว่าลูกสาวจะยังเชื่อและปฏิบัติตามไหม ตามทฤษฎีแล้ว หากผู้มีอำนาจยิ่งใช้อิทธิพลเหนือไปเรื่อย ๆ อำนาจนั้น ๆ ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะอำนาจที่มีหรือไม่มีนั้น ไม่ใช่ว่าเรา “มี” หรือ “ไม่มี” “อำนาจ” อย่างเดียว แต่อยู่ที่คนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างหรือที่เราใช้อำนาจเหนือเขานั้น เขามองว่าเราเหมาะสมที่จะมีอำนาจเหนือหรือไม่ ซึ่งบางครั้งสำคัญกว่าด้วยซ้ำไป ฉะนั้นแทนที่แม่จะใช้อำนาจเหนือ หันมาใช้อำนาจร่วมกับ (Power with) ลงมาพูดคุยกับลูก หาทางออกที่ดีกว่าแทนการสั่งอย่างเดียว ลูกก็จะยินดีปฏิบัติและเชื่อฟังแม่ต่อไป การมีส่วนร่วมนั้นไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับองค์กร หรือระดับประเทศนั้นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนทัศน์ปัจจุบัน เพราะจะช่วยให้ผู้มีส่วนร่วมเกิดความรู้สึกความเป็นเจ้าของ (Ownership) และจะทำให้ผู้มีส่วนร่วมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น ยินยอมปฏิบัติตาม (Compliance) และรวมถึงตกลงยอมรับ (Commitment) ได้อย่างสมัครใจ เต็มใจ และสบายใจ เช่นเดียวกันการกำหนดนโยบายสาธารณะ หากประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เสนอปัญหาและความต้องการอันเป็นปัจจัยนำเข้า (Input) เข้าสู่กระบวนการทางการเมือง (Process) ย่อมจะทำให้นโยบายที่กำหนดออกมา(Output)นั้น สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริง ที่เรียกว่า “เกาถูกที่คัน” ประชาชนก็จะได้รับการบรรเทาทุกข์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :

1. แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ที่มา http://www.skcc.ac.th/elearning/lg0213/?page_id=8

2. นโยบายสาธารณะและการวางแผน ที่มา http://www.skcc.ac.th/elearning/lg0213/?p=58#2

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ[แก้ไข]

2.1 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนทำหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการการแต่งตั้งโยกย้ายการเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปจนถึงการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บทบาทของ ก.พ. จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม ด้วยการพิจารณา และดำเนินการเพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งข้าราชการที่ดีมีความรู้ ความสามารถสูง ให้ได้คนที่เหมาะสมกับงานและโดยประหยัดรวมถึงการรักษาขวัญและส่งเสริมกำลังใจ ในการทำงานของข้าราชการเป็นส่วนรวม ถือเป็นการเตรียมกำลังคนภาครัฐให้มีความพร้อมและสามารถผลักดันนโยบายของรัฐให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ อันจะช่วยให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

2.2 การบริหารบุคลากรภาครัฐ

2.2.1 หลักการระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน

ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) หมายถึง กระบวนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันให้ผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการบรรลุเป้าหมาย โดยการเชื่อมโยงเป้าหมายผลการปฏิบัติราชการในระดับองค์กร หน่วยงานและระดับบุคคลเข้าด้วยกัน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานกระบวนการความต่อเนื่อง ตั้งแต่


1) การวางแผนการปฏิบัติงานที่จะต้องทำให้ชัดเจน และสอดคล้องกับทิศทางตามยุทธศาสตร์ขององค์กร

2) การติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้บังคับบัญชากำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

3) การพัฒนาผลการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ดียิ่งขึ้น

4) การประเมินผลการปฏิบัติราชการเพื่อวัดความสำเร็จของงาน โดยเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก และ

5) การนำผลที่ได้จากการประเมินไปประกอบการพิจารณาตอบแทนความดีความชอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานยังเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ปฏิบัติงาน ในการผลักดันผลการปฏิบัติราชการให้สูงขึ้น และสอดคล้องกับทิศทาง เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของส่วนราชการ โดยมีการนำตัวชี้วัดผลงานหลัก (Key Performance Indicators - KPIs) มาใช้เป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการทำงานของบุคคลร่วมกัน ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถติดตามผลการปฏิบัติงาน หาแนวทางในการพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดผลงานหลักที่กำหนดนั้นๆ เพื่อจะได้ให้สิ่งจูงใจสำหรับการเสริมสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่มีผลการปฏิบัติราชการดี เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ซึ่งระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานประกอบด้วยขั้นตอนหลักดังแผนภาพ กระบวนการบริหารผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

1) ขั้นตอนการวางแผน

เป็นขั้นตอนในช่วงต้นรอบการประเมินที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ประเมินจะได้มีการมอบหมายงานให้แก่ผู้รับการประเมิน และร่วมกับผู้รับการประเมินวางแผนการปฏิบัติราชการ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายผลกาปฏิบัติราชการร่วมกันในลักษณะตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของงานที่คาดหวังในรอบการประเมินนั้นๆ ทั้งนี้ สามารถปรับเปลี่ยนตามเป้าหมายและแผนงานของหน่วยงานหรือส่วนราชการได้ตามความจำเป็น

2) ขั้นตอนการติดตาม

เป็นขั้นตอนในระหว่างรอบการประเมินที่ผู้บังคับบัญชาจะทำการติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติราชการ เพื่อการกำกับดูแลการทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ทราบและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน อันจะทำให้ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน


3) ขั้นตอนการพัฒนา

เป็นขั้นตอนที่เป็นผลที่ได้จากการติดตามผลการทำงาน และเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาว่างานที่ทำอยู่นั้นต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาการทำงานอย่างไร และยังเป็นขั้นตอนที่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานอีกด้วย


4) ขั้นตอนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ

เป็นขั้นตอนในช่วงสิ้นรอบการประเมิน เพื่อตรวจสอบความสำเร็จของงานอันเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมินรายนั้นๆ ว่าผลการปฏิบัติราชการในระหว่างรอบการประเมินเป็นไปตามผลสัมฤทธิ์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามตัวชี้วัดผลงานหลัก (KPIs) ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นรอบการประเมินหรือไม่ เพียงใด ตามเกณฑ์มาตรฐานผลงานที่ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินร่วมกันกำหนด


5) ขั้นตอนการให้สิ่งจูงใจ

เป็นขั้นตอนที่นำผลการประเมินในขั้นตอนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ มาพิจารณาให้สิ่งตอบแทนแก่บุคคลที่ได้มีการทุ่มเทการทำงานและได้ผลงานที่ดีเกิดขึ้นแก่หน่วยงานหรือส่วนราชการจากกระบวนการในระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในส่วนราชการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เหมาะสมกับการปฏิบัติ หน้าที่ของข้าราชการในส่วนราชการที่เรียกว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ” โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

1) เพื่อเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการกำกับติดตามเพื่อให้ส่วนราชการและจังหวัด สามารถบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล และ


2) เพื่อให้ผู้บังคับบัญชานำผลการประเมินการปฏิบัติราชการไปใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนและการให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญตามหลักการของระบบคุณธรรม อันจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการพัฒนาผลงานของข้าราชการหลักการของการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผล

การปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๒/ว ๒๐ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒ มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

1)ให้ส่วนราชการยืดหยุ่นในการเลือกวิธีการ ได้แก่

1.1) แบบประเมินโดย ก.พ. กำหนดเฉพาะแบบสรุปการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ให้มีสาระไม่น้อยกว่าที่ ก.พ. กำหนดในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๒/ว ๒๐ โดยส่วนราชการอาจกำหนดเพิ่มเติมจากที่ ก.พ. กำหนดก็ได้ สำหรับแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน และแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติราชการหรือสมรรถนะนั้น ก.พ. ให้ส่วนราชการกำหนดเองได้ตามความเหมาะสม

1.2) น้ำหนักองค์ประกอบในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ก.พ. กำหนดอย่างน้อย ๒ องค์ประกอบ คือ ผลสัมฤทธิ์ของงานและพฤติกรรมในการปฏิบัติราชการ โดยกำหนดว่าน้ำหนักผลสัมฤทธิ์ของงานต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ซึ่งส่วนราชการอาจกำหนดผลสัมฤทธิ์ของงานร้อยละ ๗๐ และสมรรถนะ ร้อยละ ๓๐ หรืออาจกำหนดผลสัมฤทธิ์ของงานร้อยละ ๘๐ และสมรรถนะร้อยละ ๒๐ ก็ได้ และอาจกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม

1.3) ระดับผลการประเมิน โดย ก.พ. กำหนดให้แบ่งกลุ่มคะแนนผลการประเมินออกเป็นอย่างน้อย 5 ระดับ ได้แก่ ดีเด่น ดีมาก ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง แต่ส่วนราชการอาจกำหนดให้แบ่งกลุ่มคะแนนมากกว่า 5 ระดับก็ได้ ทั้งนี้ การกำหนดช่วงคะแนนในแต่ละระดับของผลการประเมิน ให้เป็นดุลพินิจของส่วนราชการ แต่กลุ่มคะแนนต่ำสุดของระดับพอใช้ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6๐


2) มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1) ก่อนเริ่มรอบการประเมินหรือในช่วงเริ่มรอบการประเมินให้ส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัดประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดทราบโดยทั่วกัน

2.2) การพิจารณาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการมอบหมายงาน การประเมินผลการปฏิบัติราชการ และดัชนีชี้วัด หรือ หลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงานอย่างเป็นรูปธรรม

2.3) ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับการประเมินทราบเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้รับการประเมิน

2.4) ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานและความเป็นธรรมของการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ

2.5) ให้มีระบบจัดเก็บข้อเท็จจริงจากผลการปฏิบัติราชการ เพื่อในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลการประเมินจะได้มีหลักฐานอ้างอิงได้

2.2.2 สมรรถนะข้าราชการ สมรรถนะตามคำจำกัดความของสำนักงาน ก.พ. หมายถึง คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่ทำให้บุคคลสร้างผลงานที่โดดเด่นในองค์กร ด้วยคำจำกัดความนี้สมรรถนะจึงเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่องค์การต้องการ ซึ่งตามโมเดลของการวิจัยสมรรถนะจึงเป็นตัวแปรเกณฑ์ (Criteria) ในขณะที่ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่น ๆ ของบุคคลเป็นตัวแปรที่ใช้ทำนาย (Predictors) เกณฑ์ ดังนั้นในการคัดเลือกองค์การต้องเน้นการวัดที่ตัวแปรทำนาย ซึ่งโดยทั่วไปคือ การวัดความรู้ ทักษะ ความสามารถ และคุณลักษณะอื่น ๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ดำรงตำแหน่ง และอาจใช้หลักการค้นหาพฤติกรรมในอดีตของผู้สมัครที่สอดคล้องกับพฤติกรรมในโมเดลสมรรถนะเพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้การคัดเลือกได้ผู้ที่มีความน่าจะเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นมากที่สุด สำหรับตัวแปรเกณฑ์ หรือสมรรถนะที่เป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่องค์การต้องการนั้นใช้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้การสื่อสารกับพนักงานถึงพฤติกรรมที่องค์การต้องการ และบริหารจัดการเรื่องค่าตอบแทนต่าง ๆ เพื่อทำให้พนักงานมีพฤติกรรมที่องค์การต้องการตามที่กำหนดไว้ในโมเดลสมรรถนะดังกล่าว ตลอดจนการวางแผนการพัฒนาให้พนักงานมีพฤติกรรมตามที่องค์การต้องการด้วย

2.2.3 ระบบพนักงานราชการ

พนักงานราชการ หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อเป็นพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการนั้น ประเภทของพนักงานราชการ มี 2 ประเภท คือ

1. พนักงานราชการทั่วไป ได้แก่ พนักงานราชการซึ่งปฏิบัติในลักษณะเป็นงานประจำทั่วไป ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ

1.1 กลุ่มงานบริการ

1.2 กลุ่มงานเทคนิค

1.3 กลุ่มงานบริหารทั่วไป

1.4 กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ

1.5 กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ

2. พนักงานราชการพิเศษ ได้แก่ พนักงานราชการซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญสูงมากเป็นพิเศษ ปฏิบัติงานในเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเฉพาะเรื่องของส่วนราชการ มี 1 กลุ่ม คือ กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ

2.3 การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ

ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. ได้ส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันให้ส่วนราชการเห็นความสำคัญของการพัฒนาข้าราชการตามกรอบ ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือน ที่มุ่งเน้นพัฒนาข้าราชการ โดยยึดหลักสมรรถนt(Competency) และพัฒนาขีดความสามารถ (Capability) เพื่อให้ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ทรงความรู้ (Knowledge Worker) สามารถปฏิบัติงานภายใต้การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และระบบบริหารจัดการ ภาครัฐแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง สามารถพัฒนางานในหน้าที่อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นักบริหารทุกระดับ มีศักยภาพในการเป็นผู้นำการบริหารราชการยุคใหม่ เพื่อให้ภาคราชการมีขีดความสามารถและมาตรฐานการปฏิบัติงานในระดับสูงเทียบ เท่าเกณฑ์สากล

การพัฒนาข้าราชการในปัจจุบันมุ่งเน้นการพัฒนาข้าราชการโดยยึดหลักสมรรถนะ (Competency) และการพัฒนาขีดความสามารถ (Capability) เพื่อให้ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ทรงความรู้ (Knowledge Worker) สามารถปฏิบัติงานภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และระบบบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง สามารถพัฒนางานในหน้าที่อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยการพัฒนาที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

สำนักงาน ก.พ. มีบทบาทเป็นผู้เสนอแนะ กำกับดูแล และให้คำปรึกษาแก่ส่วนราชการในการดำเนินงานฝึกอบรม พัฒนา จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือนขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม พัฒนา ที่มีรูปแบบหลากหลาย อาทิ การจัดหลักสูตรในห้องเรียน การจัดหลักสูตรฝึกอบรมทางไกล การฝึกอบรมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

2.4 การเข้ารับราชการ

อาชีพ “ข้าราชการ” เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะระบบราชการเป็นตัวจักรที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้บังเกิดผลสำเร็จ นำพาประเทศชาติและสังคมไปสู่ความเจริญและสงบสุข สามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย

หลักการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการดำเนินการโดยยึดหลักดังนี้

• ความเป็นธรรมและเสมอภาคในโอกาสแก่บุคคลผู้มีคุณสมบัติอย่างเท่าเทียมกัน

• ความได้มาตรฐานด้านเทคนิคและวิธีการดำเนินการเพื่อให้ได้บุคคลที่เป็นคนดีมีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะเหมาะสมกับตำแหน่ง

• ความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด

• บุคคลมีโอกาสเลือกงาน และ หน่วยงานมีโอกาสเลือกบุคคล


คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับราชการ

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนนอกจากจะมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

วิธีการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการ

การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งระดับบรรจุนั้น อาจดำเนินการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

• การสอบแข่งขัน ซึ่งอาจรับสมัครจากบุคคลทั่วไปหรือรับสมัครเฉพาะผู้ผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นแล้ว

• การคัดเลือก ดำเนินการในกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสอบแข่งขัน เช่น กรณีคุณวุฒิที่หาผู้สำเร็จการศึกษาได้ยาก หรือได้รับทุนรัฐบาล เป็นต้น


หน่วยงานดำเนินการ

สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.)

ส่วนราชการ

เป็นผู้ดำเนินการสรรหาและเลือกสรรผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชา และระดับ ที่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง และเป็นผู้สอบผ่านภาค ก. ของ ก.พ. ในระดับนั้น ๆ แล้ว ส่วนผู้ได้รับปริญญาเอก และมีวุฒิการศึกษา ที่ ก.พ. กำหนดเป็นวุฒิคัดเลือก ส่วนราชการจะเป็นผู้คัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ โดยส่วนราชการจะเปิดรับสมัครจากผู้มีวุฒิดังกล่าว

การบริหารงบประมาณ[แก้ไข]

3.1 ความหมาย

ความหมายของงบประมาณจะแตกต่างกันออกไปตามกาลเวลาและลักษณะการให้ความหมายของนักวิชาการแต่ละด้านซึ่งมองงบประมาณแต่ละด้านไม่เหมือนกันเช่นนักเศรษฐศาสตร์มองงบประมาณในลักษณะของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดนักบริหารจะมองงงบประมาณในลักษณะของกระบวนการหรือการบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยบรรลุเป้าหมายของแผนงานที่วางไว้นักการเมืองจะมองงบประมาณในลักษณะของการมุ่งให้รัฐสภาใช้อำนาจควบคุมการปฏิบัติงานของรัฐบาลความหมายดั้งเดิมงบประมาณหรือ Budget ในความหมายภาษาอังกฤษแต่เดิมหมายถึงกระเป๋าหนังสือใบใหญ่ที่เสนนาบดีคลังใช้บรรจุเอกสารต่างๆที่แสดงถึงความต้องการของประเทศและทรัพยากรที่มีอยู่ในการแถลงต่อรัฐสภาต่อมาความหมายของ Budget ก็ค่อยๆเปลี่ยนจากตัวกระเป๋าเป็นเอกสารต่างๆที่บรรจุในกระเป๋านั้นสรุปความหมายของงบประมาณหมายถึงแผนเบ็ดเสร็จซึ่งแสดงออกในรูปตัวเงินแสดงโครงการดำเนินงานทั้งหมดในระยะหนึ่งรวมถึงการกะประมาณการบริหารกิจกรรมโครงการและค่าใช้จ่ายตลอดจนทรัพยากรที่จำเป็นในการสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุตามแผนนี้ย่อมประกอบด้วยการทำงาน 3 ขั้นตอนคือ (1) การจัดเตรียม (2) การอนุมัติและ (3) การบริหาร

3.2 ความสำคัญและประโยชน์ของงบประมาณ

งบประมาณมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารหน่วยงานสามารถนำเอางบประมาณมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารหน่วยงานให้เจริญก้าวหน้าความสำคัญและประโยชน์ของงบประมาณมีดังนี้

1) ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารหน่วยงานตามแผนงานและกำลังเงินที่มีอยู่โดยให้มีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้เพื่อป้องกันการรั่วไหลและการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นของหน่วยงานลดลง

2) ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาหน่วยงานถ้าหน่วยงานจัดงบประมาณการใช้จ่ายอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะสามารถพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่หน่วยงานและสังคมโดยหน่วยงานต้องพยายามใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิผลไปสู่โครงการที่จำเป็นเป็นโครงการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้าของหน่วยงาน

3) เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพเนื่องจากทรัพยากรหรืองบประมาณของหน่วยงานมีจำกัดดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรหรือใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพโดยมีการวางแผนในการใช้และจัดสรรเงินงบประมาณไปในแต่ละด้านและมีการวางแผนการปฏิบัติงานในการใช้จ่ายทรัพยากรนั้นๆด้วยเพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเวลาที่เร็วที่สุดและใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด

4) เป็นเครื่องมือกระจายทรัพยากรและเงินงบประมาณที่เป็นธรรมงบประมาณสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมไปสู่จุดที่มีความจำเป็นและทั่วถึงที่จะทำให้หน่วยงานนั้นสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5) เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์งานและผลงานของหน่วยงานเนื่องจากงบประมาณเป็นที่รวมทั้งหมดของแผนงานและงานที่จะดำเนินการในแต่ละปีพร้อมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นดังนั้นหน่วยงานสามารถใช้งบประมาณหรือเอกสารงบประมาณที่แสดงถึงงานต่างๆที่ทำเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

3.3 ประเภทของงบประมาณ งบประมาณที่ประเทศต่างๆใช้กันอยู่ในขณะนี้มีมากมายหลายประเภทแต่ที่สำคัญๆและที่รูจั้กกันโดยทั่วไปมีอยู่ประมาณ 5 – 6 ประเภทด้วยกันซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะการใช้และการดำเนินการต่างๆที่แตกต่างกันออกไปและมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไปอีกด้วยแต่ละประเภทจะเหมาะสมกับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นคงจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านด้วยกันไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านบริหารความรู้ความสามารถปัจจัยทางด้านการเมืองกลุ่มผลประโยชน์และปัจจัยอื่นๆเช่นปัจจัยทางด้านสังคมฯลฯดังนั้นแต่ละประเทศจึงใช้งบประมาณในลักษณะแบบรูปที่ไม่เหมือนกันแต่จะแตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศเป็นสำคัญสำหรับงบประมาณในแต่ละรูปแบบนั้นมีรายละเอียดพอสรุปๆดังต่อไปนี้คือ

1) งบประมาณแบบแสดงรายการ (Line Item Budget) งบประมาณแบบนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมีรายการต่างๆมากมายและกำหนดเอาไว้ตายตัวจะพลิกแพลงจ่ายเป็นรายการอย่างอื่นผิดจากที่กำหนดไว้ไม่ได้และถึงแม้จะจ่ายตามรายการที่กำหนดไว้ก็ตามแต่จะจ่ายเกินวงเงินที่กำหนดไว้ไม่ได้ถ้าจะผันแปรหรือจ่ายเกินวงเงินอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องทำความตกลงกับสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลังและหาเงินรายจ่ายมาเพิ่มให้พอจะจ่ายเสียก่อนงบประมาณแบบนี้มิได้เพ่งเล็งกิจการวางแผนวัตถุประสงค์และเป้าหมายตลอดจนถึงประสิทธิภาพของการบริหารงานเท่าใดนักทำให้ขาดการยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานทำงานไม่คล่องตัวเพราะเมื่อมีเหตุการณ์ผันแปรไปอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกระทบกระเทือนไม่อาจทำงานให้เป็นไปตามรายการที่กำหนดไว้อย่างละเอียดตายตัวได้

2) งบประมาณแบบแสดงผลงาน ( Proformance Budget )

เป็นงบประมาณที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานให้ได้ผลตามความมุ่งหมายที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้โดยมีการติดตามและประเมินผลของโครงการต่างๆอย่างใกล้ชิดและมีการวัดผลงานในลักษณะวัดประสิทธิภาพในการทำงานว่างานที่ได้แต่ละหน่วยนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรเป็นต้นโดยงบประมาณแบบนี้จะกำหนดงานเป็นลักษณะดังนี้

2.1 ลักษณะของงานที่จะทำเน้นหนักไปในทิศทางที่ว่าจะทำงานอะไรบ้านเป็นข้อสำคัญ

2.2 แผนของการดำเนินงานต่างๆเป็นแผนที่แสดงให้เห็นว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้กิจกรรมต่างๆแล้วเสร็จพร้อมด้วยคุณภาพของงาน

2.3 วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินเน้นหนักไปในทิศทางที่ว่าจะใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานตามโครงการต่างๆให้ลุล่วงไปตามเจตนาที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อการนั้นๆไว้

3) งบประมาณแบบแสดงแผนงาน (Planning or Programming Budget) มีลักษณะดังนี้

3.1 เลิกการควบคุมรายละเอียดทั้งหมด

3.2 ให้กระทรวงทบวงกรมกำหนดแผนงาน

3.3 สำนักงบประมาณจะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายให้แต่ละแผนงานโดยอิสระ

3.4 สำนักงบประมาณจะควบคุมโดยการตรวจสอบและประเมินผลของงานแต่ละแผนงานว่าได้บรรลุเป้าหมายตามแผนงานเพียงใดงบประมาณแบบนี้ประเทศไทยกำลังใช้อยู่โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2525 เป็นต้นมามีรูปแบบ

ตามตารางที่ 3 โดยมีสาระสำคัญที่จะให้มีการใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพและประหยัดซึ่งจะประกอบด้วยกระบวนการดำเนินการดังต่อไปนี้คือ

(1) ให้มีการจัดแผนงานงานหรือโครงการเป็นระบบขึ้นมาโดยจัดเป็นโครงสร้างแผนงานงานหรือโครงการขึ้นมา

(2) ให้มีการระบุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของแผนงานงานให้ชัดเจน

(3) ให้แสดงค่าใช้จ่ายทั้งหมดของแผนงานหรือโครงการ

(4) ให้แสดงถึงผลที่ได้รับจากแผนงานงานหรือโครงการเมื่อสำเร็จเสร็จเรียบร้อยลง

(5) ให้มีการวิเคราะห์เลือกแผนงานงานหรือโครงการใดว่าจะมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการก่อนหลังกันอย่างไรหากดำเนินการตามกระบวนการข้างต้นแล้วจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรงบประมาณที่อยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดทั้งนี้เนื่องจาก

• มีการกำหนดและเลือกแผนงานงานหรือโครงการที่เหมาะสมที่สุดและมีการกำหนดเป้าหมายต่างๆไว้ด้วยว่าจะไปแก้ปัญหาด้านไหนอย่างไรทำให้มีการใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณไปในทางที่ดีที่สุดที่จะให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัด

• สามารถที่จะวิเคราะห์แผนงานงานหรือโครงการได้สะดวกเพราะจัดเป็นระบบขึ้นมาทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบว่าแผนงานงานหรือโครงการใดที่ดำเนินการอยู่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไปหรือควรยกเลิก

• ทำให้สามารถมองการใช้จ่ายงบประมาณว่าได้ดำเนินการหนักทางด้านใดอย่างไรควรโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสถานการณ์และนโยบายของรัฐบาลได้รวดเร็วขึ้น

• ทำให้ส่วนราชการต่างๆนำเงินงบประมาณไปใช้ได้คล่องตัวกว่าเพราะสำนักงบประมาณจะพิจารณาในลักษณะผลงานมากกว่าการจัดซื้อจัดหา

4) งบประมาณแบบแสดงการวางแผนการกำหนดโครงการและระบบงบประมาณ(Planning, Programming and Budgeting System)

ระบบนี้เป็นการแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายระยะยาวของโครงการที่ได้มีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วบวกกับมีข้อมูลที่ถูกต้องในการสนับสนุนโครงการนั้นส่วนประกอบของระบบ PPBS นี้ไม่มีอะไรใหม่เลยก็ว่าได้เพราะเป็นการรวมเอาแนวความคิดของระบบงบประมาณแบบแสดงแผนงาน (Program Budgeting) แนวความคิดในการวิเคราะห์ค่าหน่วยสุดท้ายทางเศรษฐศาสตร์ (Marginal Analysis) และการวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับผลอันถึงจะได้รับค่าใช้จ่ายในการนั้นๆ (Cost-Benefit Analysis) หรือ (Cost-Effectionness Analysis) นำมารวมกันเข้ากับการวิเคราะห์อย่างมีระบบโดยคำนึงถึงเวลาหลายปีข้างหน้า ลักษณะอันเป็นสารสำคัญของระบบ PPBS พอที่จะกล่าวได้คือ

4.1) มุ่งความสนใจในเรื่องการกำหนดโครงการ (Program) ตามวัตถุประสงค์อันเป็นพื้นฐานของรัฐบาลโครงการอาจจะได้การดำเนินงานจากส่วนราชการต่างๆซึ่งไม่ได้คำนึงถึงขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละส่วนราชการ

4.2) พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในอนาคต

4.3) พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายทุกชนิดทั้งค่าใช้จ่ายโดยตรงค่าใช้จ่ายประเภททุนและที่ไม่ใช่ประเภททุนรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

4.4) การวิเคราะห์อย่างมีระบบเพื่อจะหาทางเลือกที่จะดำเนินงานลักษณะข้อนี้เป็นสาระสำคัญของระบบ PPBS ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง

• การแสดงวัตถุประสงค์หรือเจตจำนงค์ของรัฐบาล

• การแสดงทางเลือกดำเนินการต่างๆที่จะให้บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนและอย่างเป็นธรรม

• ประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องของทางเลือกดำเนินการแต่ละอัน

• ประมาณผลอันพึงจะได้รับจากทางเลือกดำเนินการนั้นๆ

• การเสนอค่าใช้จ่ายและผลอันพึงจะได้รับเพื่อเปรียบเทียบระหว่างทางเลือกดำเนินการนั้นๆพร้อมด้วยสมมุติฐานสาระสำคัญของระบบ PPBS ได้แก่การวิเคราะห์อย่างมีระเบียบซึ่งจะใช้ประโยชน์ใน

การเสนองบประมาณของส่วนราชการอย่างเหมาะสมส่วนประกอบของการวิเคราะห์ได้แก่เรื่องใหญ่ๆ5 เรื่องคือ

(1) วัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้นจะถูกวางลงในรูป Program Structure ประเภทต่างๆของ Program ควรจะเป็นตัวแทนของวัตถุประสงค์ของราชการนั้นส่วนประกอบรองลงมาได้แก่Program element ได้แก่กลุ่มกิจกรรมซึ่งจะส่งผลสำเร็จไปสู่วัตถุประสงค์ใหญ่เทคนิคต่างๆที่ใช้ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของระบบ PPBS (จะกล่าวถึงต่อไป) ถูกเปลี่ยนมาใช้ System Analysis

(2) ในการวิเคราะห์โครงการขั้นสำคัญได้แก่การกำหนดทางเลือกปฏิบัติทางเลือกนี้จะถูกนำมาใช้พิจารณาในกิจกรรมแต่ละอย่าง (Activity) หรือกลุ่มของกิจกรรมก็ได้ขอเพียงให้บรรลุวัตถุประสงค์

(3) ค่าใช้จ่ายที่นำมาวิเคราะห์ขึ้นอยู่กับทางเลือกดำเนินงานที่นำมาพิจารณาค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันระหว่างทางเลือกดำเนินงานจะต้องพิจารณาด้วยอย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายที่ใช้นี้จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวไม่ใช่แต่ละปี

(4) Models ที่นำมาใช้ส่วนมากได้แก่เรื่อง Operations Research และเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์มาก

(5) เกณฑ์ประกอบการพิจารณาได้แก่กฎระเบียบต่างๆและมาตรฐานซึ่งจะช่วยในการให้ลำดับความสำคัญของทางเลือกดำเนินงานต่างๆและช่วยในการชั่งนํ้าหนักระหว่างค่าใช้จ่ายกับผลอันพึงจะได้รับ

5) งบประมาณแบบฐานศูนย์ (ZERO BASE) งบประมาณแบบฐานศูนย์ในลักษณะกว้างๆเป็นระบบงบประมาณที่จะพิจารณางบประมาณทุกปีอย่างละเอียดทุกรายการโดยไม่คำนึงถึงว่ารายการหรือแผนงานนั้นจะเป็นรายการหรือแผนงานเดิมหรือไม่ถึงแม้รายการหรือแผนงานเดิมที่เคยถูกพิจารณาและได้รับงบประมาณในงบประมาณปีที่แล้วก็จะถูกพิจารณาอีกครั้งและอาจเป็นไปได้ว่าในปีนี้อาจจะถูกตัดงบประมาณลงก็ได้เช่นแผนงานแผนงานหนึ่งปีที่แล้วได้รับงบประมาณรวม 1,000 ล้านบาทเพราะถูกจัดไว้ว่ามีความจำเป็นและสำคัญลำดับ 1 พอมาปีงบประมาณใหม่อาจจะได้รับงบประมาณ 500 ล้านบาทไม่ถึง 1,000 ล้านบาทเดิมก็ได้ทั้งนี้เพราะเป็นแผนงานที่จำเป็นและสำคัญสำหรับปีที่แล้วแต่พอมาปีนี้แผนงานนั้นๆอาจจะไม่จำเป็นหรือสำคัญเป็นอันดับที่ 1 ต่อไปก็ได้ไม่จำเป็นต้องได้รับงบประมาณเท่าเดิมต่อไปก็ได้และในทางตรงกันข้ามแผนงานอีกแผนงานหนึ่งปีที่แล้วถูกจัดอันดับความสำคัญไว้ที่ 3 แต่พอมาปีนี้อาจจะจัดอันดับความสำคัญเป็นที่ 1 และได้รับงบประมาณมากกว่าเดิมปีที่แล้วเพิ่มขึ้นอีกร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้

6) งบประมาณแบบสะสม (Incremental Budget) การจัดทำงบประมาณในแต่ละปีเป็นภาระหนักเนื่องจากต้องใช้ข้อมูลมากในการพิจารณาและต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงานด้วยกันดังนั้นต้องใช้เวลามากในการจัดทำงบประมาณหากจะต้องจัดทำงบประมาณใหม่ทั้งหมดทุกปีคงจะทำได้ยากและคงมีข้อบกพร่องมากด้วยดังนั้นเพื่อให้ทันกับเวลาที่มีอยู่และเพื่อให้งบประมาณได้พิจาณณาให้เสร็จทันและสามารถนำงบประมาณมาใช้จ่ายได้จึงได้มีการพิจาณางบประมาณเฉพาะส่วนเงินงบประมาณที่เพิ่มใหม่ที่ยังไม่ได้รับการพิจารภณาจากปีที่แล้วนั้นแต่เงินงบประมาณในปีที่แล้วที่ได้เคยพิจารณาไปครั้งหนึ่งแล้วจะไม่มีการพิจารณาอีกครั้งเพียงแต่ยกยอดเงินมาตั้งเป็นงบประมาณใหม่ได้เลยเพราะถือว่าได้มีการพิจารณาไปแล้วครั้งหนึ่งคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง

3.4 ปัญหาในการบริหารและจัดทำนโยบาย การจัดทำงบประมาณนั้นต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากรวมทั้งจะต้องบริหารและจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแต่ละหน่วยงานจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการดำเนินงานบุคลากรวัฒนธรรมองค์กรฯลฯดังนั้นในการทำงบประมาณจึงประสบปัญหาที่แตกต่างกันออกไปซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

• ปัญหาด้านระบบงบประมาณ

1) หน่วยงานขาดการวางแผนระยะยาวในช่วงระยะเวลา 5 ปีต่อครั้งถึงแม้จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วแต่ก็เป็นการทำแผนพัฒนาในภาพกว้างหน่วยงานจึงควรมีวางแผนระยะยาวของตนเอง

2) หน่วยงานต่างๆทำคำของบประมาณของตนเองโดยไม่มีการพิจารณากลั่นกรองขั้นตอนว่าสอดคล้องกับนโยบายและแผนงานที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ทำให้การบริหารงบประมาณขาดประสิทธิภาพ

3) ขาดความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างแผนงานนโยบายและแผนปฏิบัติการทำให้การจัดระบบงานในทุกระดับมีความขัดแย้งกัน

4) โครงสร้างแผนงานที่ใช้ขาดความสมบูรณ์ในตัวเองขาดการลำดับความสำคัญของงานมีความซํ้าซ้อนของงานและก่อให้เกิดความสับสนและสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นอย่างมาก

5) ปัญหาความซํ้าซ้อนของงานและโครงการซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายขอบเขตการดำเนินงานของหน่วยงานเกินกว่าที่กำหนดในอำนาจหน้าที่ขาดการพิจารณาขอบเขตของงานว่าควรจะลดหรือยุบเลิกงานไปเมื่อไม่มีความจำเป็นในงานนั้นต่อไปแล้ว

6) ขาดข้อมูลพื้นฐานในการทำงบประมาณการทำงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องอาศัยข้อมูลที่สมบูรณ์ทุกด้านเช่นระเบียบการเงินต่างๆเกณฑ์มาตรฐานครุภัณฑ์ระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนการไปราชการข้อมูลจำนวนนักศึกษาแผนการเรียนฯลฯ

7) หน่วยงานตั้งงบประมาณรายจ่ายโดยขาดแนวทางทิศทางที่ถูกต้องและขาดการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายมีผลทำให้งบประมาณสูงเกินความจำเป็น

8) คณะกรรมการพิจารณารายละเอียดงบประมาณขาดประสบการณ์ความรู้ด้านการเงินงบประมาณและความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานเพื่อจะได้รู้ทันการจัดการงบประมาณของหน่วยต่างๆและสามารถพิจารณาได้อย่างรอบคอบขึ้นอยู่กับฐานของความเป็นจริง

9) ปัญหาด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินที่มีระเบียบข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามมากมายหน่วยงานต้องเสียเวลาในการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนจนบางครั้งไม่สามารถ ดำเนินการซื้อได้ทันเวลา

10) ปัญหาอื่นๆเช่นพัสดุครุภัณฑ์ที่จัดซื้อตามระเบียบหลายครั้งจะมีคุณภาพตํ่าและไม่สามารถใช้งานได้ซึ่งถ้าไม่ทำตามระเบียบอาจจะถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดได้

• ปัญหาด้านองค์กรประมาณ

1) รูปแบบขององค์กรไม่สอดคล้องกับระบบงบประมาณที่ใช้อยู่องค์กรงบประมาณโดยทั่วไปอยู่ในรูปแบบเก่าไม่ได้จัดในลักษณะแผนงานทำให้งานบางด้านขาดหายไป

2) ศักยภาพขององค์กรขาดความพร้อมในหลายด้านเช่นความพร้อมของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพขาดความพร้อมเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยอย่างพอเพียงองค์กรขาดความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการจัดการงบประมาณ

3) ขาดการจัดองค์กรตามทฤษฎีองค์กรและการบริหารที่ดีซึ่งการบริหารที่ดีนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักการบริหารและหลักขององค์กรได้แก่การวางแผนการจัดองค์กรการจัดบุคลากรการกำกับดูแลการประสานงานการรายงานและการจัดงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ

4) การจัดองค์กรงบประมาณยังให้ความสำคัญไม่เท่าเทียมกันในแต่ละด้าน

• ปัญหาด้านเจ้าหน้าที่งบประมาณ

1) เจ้าหน้าที่งบประมาณต้องมีวิจารณญาณทีดีมีความรู้รอบตัวด้านต่างๆเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดการงบประมาณ

2) เจ้าหน้าที่งบประมาณขาดประสบการณ์และคุณสมบัติไม่ตรงกับงานที่ทำควรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่งบประมาณเพื่อให้มีศักยภาพสูงขึ้นสามารถทำงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3) เจ้าหน้าที่งบประมาณมีน้อยไม่พียงพอ

• ข้อเสนอแนะด้านงบประมาณ

เพื่อให้งานงบประมาณดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ควรมีการเตรียมการ ดังนี้

1) ควรจัดให้มีการวางแผนทางการเงินในระยะยาวขึ้นอาจเป็น 5 ปีหรือเท่ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก็ได้เพื่อเป็นแนวทางหลักในการวางแผนทางการเงินในระยะสั้นให้มีแนวทางไปในทางเดียวกัน

2) งบประมาณที่หน่วยงานเสนอมาต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานขั้นต้นมาก่อนเป็นอย่างดี

3) ควรจัดให้มีการเชื่อมโยงระหว่างแผนงานต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน

4) ควรมีการทบทวนและจัดทำโครงสร้างแผนงานให้สมบูรณ์อยู่เสมอเพื่อขจัดความซํ้าซ้อนของงานต่างๆที่มีอยู่ในโครงสร้างแผนงานและมีการจัดเรียงลำดับความสำคัญขึ้นใหม่ตามสถานกรณ์ปัจจุบันและในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

5) ควรมีการพิจารณาลดหรือยุบเลิกงานที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อจะได้ใช้งบประมาณไปในทางที่เป็นประโยชน์ด้านอื่น

6) ควรมีการตั้งศูนย์ข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นเพื่อให้มีการรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่จะนำมาใช้ในการจัดเตรียมทำงบประมาณ

7) ควรมีการปรับปรุงทบทวนแก้ไขระเบียบและข้อบังคับต่างๆที่ล้าสมัยให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการทำงบประมาณ

8) ควรมีการลดขั้นตอนการปฏิบัติบางอย่างที่ไม่จำเป็นลงเหลือไว้เฉพาะขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อประหยัดเวลาการทำงาน

9) ควรปรับปรุงรูปแบบองค์กรงบประมาณให้สอดคล้องกับระบบประมาณที่ใช้อยู่เพื่อประหยัดเวลาการทำงาน

10) ควรจัดเจ้าหน้าที่งบประมาณลงปฏิบัติงานให้ตรงกับความรู้ความสามารถและมีการพัฒนาให้มีวิจารณญาณที่ดีมีความรอบรู้ในด้านต่างๆที่จะนำมาใช้ประกอบการจัดทำงบประมาณการวิเคราะห์งบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อม

11) คณะกรรมการผู้พิจารณางบประมาณควรเป็นผู้ที่มีวิจารณญาณที่ดีมีทัศนเปิดกว้างยินดีรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีมีวิสัยทัศน์พิจารณางบประมาณในลักษณะเปิดกว้างเป็นกลางโดยคำนึงถึงความจำเป็นด้านต่างๆให้สอดคล้องกันอย่ามุ่งแต่ประเด็นเพียงเพื่อจะตัดงบประมาณเพียงอย่างเดียวหรือมองในรายละเอียดมากจนเกินไป

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

1. http://www.plan.rbru.ac.th/download/know.pdf

การบริหารงานเครือข่ายในภาครัฐ[แก้ไข]

4.1 ความหมาย

“เครือข่าย” หมายถึง รูปแบบของการประสานงานกลุ่มของคนหรือองค์กรที่สมัครใจแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเหลือกัน โดยการติดต่ออาจทำได้ทั้งที่ผ่านศูนย์กลางแม่ข่ายหรือแกนนำ หรืออาจจะไม่มีแม่ข่ายหรือแกนนำแต่จะทำการติดต่อโดยตรงระหว่างกลุ่ม ซึ่งจะมีการจัดรูปแบบหรือจัดระเบียบโครงสร้างที่คนหรือองค์กรสมาชิกยังคงมีความเป็นอิสระ โดยที่อาจมีรูปแบบการรวมตัวแบบหลวมๆ เฉพาะกิจ ตามความจำเป็นหรือเป็นโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์ชัดเจน

4.2 เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายภาคประชาชน เป็นการรวมตัวของภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนชนบท เป็นการรวมของปัจเจกบุคคล กลุ่มคนและเครือข่าย โดยอาศัยวัฒนธรรมชุมชน กระบวนการทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ และระบบเทคโนโลยี เป็นเครื่องหนุนเสริมให้เกิดการรวมตัว โดยเครือข่ายภาคประชาชนเกิดขึ้นทั้งจากการเห็นความจำเป็นในการรวมพลังเพื่อแก้ไขปัญหา เกิดจากการเรียนรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน โดยเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นจากการส่งเสริม โดยหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการให้องค์กร ชุมชน และสังคม มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาตนเองตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของภาครัฐหรือหน่วยงานที่กำหนดไว้

กระบวนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนนั้น สามารถจำแนกเป็น ระดับใหญ่ๆ คือระดับแรกเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดการตัวเองของชุมชน และระดับที่ เป็นการสร้างโอกาส สร้างศักยภาพของเครือข่ายและขยายกลุ่มองค์กรชุมชน ไปยังเครือข่ายอื่นๆ จนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศหรือข้ามพรมแดนนอกเขตการปกครองที่โยงใยกันอย่างทั่วถึง การรวมตัวของภาคประชาชนเหล่านี้เป็นพลังที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาสังคม โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การเรียนรู้ การสืบทอดภูมิปัญญาและกรปรับตัวของชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการพัฒนาประเทศ โดยเครือข่ายภาคประชาชนจะมีการกำหนดความเป็นเครือข่ายผ่านกิจกรรม ฐานอาชีพและกระบวนการเชื่อมโยง เช่น เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายอุตสาหกรรมชุมชน เครือข่ายวิทยุชุมชน เป็นต้นองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนเหล่านี้ มีกิจกรรมและความต่อเนื่องบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและวัฒนธรรมชุมชน กระบวนการทำงานส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน การจัดการทรัพยากรในชุมชน และการทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งเป็นรากฐานให้เกิดแนวร่วม ในระดับที่สูงขึ้นไป เช่น การเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพในระดับตำบล และการเข้าร่วมเป็นภาคประชาชนสังคมระดับจังหวัด กระบวนการเครือข่ายภาคประชาชนนี้นับว่ามีบทบาทที่สำคัญ ต่อการพัฒนาประเทศ เพราะว่าเป็นพลังของแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก

ข้อจำกัดของเครือข่ายภาคประชาชน อยู่ที่ขาดการเรียนรู้ในเชิงมหภาคและระดับโลก การปรับตัวของชุมชน การจัดระบบการจัดการตัวเอง การสนับสนุนอย่างเป็นระบบทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน การขาดผู้นำ รวมทั้งการขาดระบบ

การจัดการเครือข่ายที่จะทำให้เครือข่ายมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ข้อดีหรือจุดแข็ง คือ การใช้ระบบวัฒนธรรม ความเชื่อ ความไว้วางใจและการเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและการสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งการพัฒนาบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจ และความสอดคล้องในวิถีชีวิตและธรรมชาติของสรรพสิ่ง ซึ่งในมิติหลัง คือ การสร้างวัฒนธรรมของตนเองในการดำรงอยู่ในสังคม

4.3 เครือข่ายภาครัฐ ภาครัฐเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบด้วยนโยบายของภาครัฐแต่ละช่วงเวลา แต่ด้วยระบบที่มีมาอย่างยาวนานนั้น ได้สร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการรวมศูนย์ที่ยากแก่การนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เพราะเป็นการวางรากฐาน/การวางแผนที่มาจากส่วนบนหรือผู้ที่มีอำนาจ การสร้างอำนาจนิยมของภาครัฐดังกล่าว ได้กลายเป็นการสะสมปัญหาเชิงโครงสร้างให้เกิดขึ้นอีกต่อกระบวนการพัฒนาในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมาภาครัฐเองก็ได้มีการปรับตัว/ปฏิรูปกระบวนการทำงาน โดยการสนับสนุนกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายและ มีการปรึกษาหารือกันมากขึ้น โดยผ่านช่องทางด้านกฎหมายและกระบวนการทำงาน โดยกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาภาครัฐนั้น จะมีการดำเนินการในลักษณะของงานด้านการพัฒนาชุมชนที่ภาครัฐเป็นผู้ให้แนวคิด กระบวนการทำงานมากกว่ากระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ของภาคประชาชน และการส่งเสริมความเป็นเครือข่ายของภาครัฐนั้น มักจะเป็นการจัดตั้งมากกว่าเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของภาคประชาชน เครือข่ายภาครัฐจะมีหลากหลายประเภทตามโครงสร้างและภารกิจของหน่วยงาน เช่น เครือข่ายสถาบันการศึกษา เครือข่ายกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายเกษตรกรเพื่อการผลิตของกรมการพัฒนาชุมชน เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน และเครือข่ายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

กลุ่มองค์กร เครือข่าย ที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งภาครัฐเหล่านี้ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาและการเข้าไปส่งเสริมการทำงานในระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัด โดยเป็นการเชื่อมประสานการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนที่มีลักษณะทั้งที่เป็นแนวดิ่ง คือ จากบนลงล่าง และแนวนอน คือ การทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ขาดการวางแผนร่วมกันระหว่างชาวบ้านและรัฐ ดังนั้น กลุ่ม องค์กร เครือข่ายของรัฐหรือโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐสนับสนุนเหล่านี้ เมื่อโครงการตามภารกิจนั้นๆ สิ้นสุดลง ความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง รวมทั้งการเรียนรู้ก็สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน เป็นความไม่ต่อเนื่อง และไม่ก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืน จากสถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐจึงได้มีการปรับตัวในการที่จะปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากในปัจจุบันมีองค์กรอิสระใหม่ของภาครัฐมากมาย ซึ่งองค์กรเหล่านั้นต่างก็มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ เช่น สถาบันพระปกเกล้า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พอช. กองทุนเพื่อสังคม หรือแม้กระทั่งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาครัฐได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนสังคมร่วมกับภาคประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น

ข้อดีของเครือข่ายภาครัฐ คือ การเสริมสร้างมวลบนพื้นฐานแห่งความมั่นคงของชาติและการส่งเสริมการพัฒนาที่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐและการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยมีระบบระเบียบการจัดการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง รวมทั้งมีแนวทางการขับเคลื่อนสังคมด้วยกิจกรรมที่หลากหลายตามภารกิจของกระทรวง และกรมกองต่างๆ ข้อจำกัด คือ กระบวนการดำเนินการ เช่น เป็นการวางแผนที่มิได้มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน ขาดการกระจายความรับผิดชอบให้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง และขาดการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้คนในสังคม รวมทั้งปัญหาการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่บางส่วน

4.4 เครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน

ในภาคธุรกิจเอกชน เป็นที่ยอมรับกันว่า การประสานผลประโยชน์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลตอบแทน เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนได้ดำเนินการอยู่เสมอ ภายใต้ความร่วมมือในฐานะความเป็นหุ้นส่วนต่อกัน โดยความเป็นหุ้นส่วนนั้นเป็นทั้งในรูปแบบของความร่วมมือในการผลิตการค้าขาย การประสานผลประโยชน์ และการรวมพลังเพื่อพัฒนาสังคม โดยเครือข่ายในภาคธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการรวมตัวของผู้ทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่กลุ่มองค์กรในภาคธุรกิจต่างๆ มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและเครือข่ายองค์กรธุรกิจเอกชนอื่นๆ ที่ภาครัฐส่งเสริม เช่น สมาคมผู้ส่งออก สมาคมผู้ประกอบการค้า เป็นต้น โดยเครือข่ายภาคธุรกิจเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประสานผลประโยชน์ และสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของการดำเนินการทางธุรกิจ และการคืนกำไรให้กับสังคม

กระบวนการเกิดเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีที่จะประสานและร่วมกันรักษาผลประโยชน์ในทางธุรกิจ และนำไปสู่การพัฒนาสังคมในด้านอื่นๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาวงการธุรกิจถูกมองว่าฉกฉวยผลประโยชน์จากภาคประชาชน และใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง มีการผูกขาดทางการค้า ฯลฯ ซึ่งจากการมองดังกล่าวและกอปรกับการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีการปรับตัวเป็นธุรกิจเพื่อสังคม และมีแนวโน้มในการทำธุรกิจที่สามารถรับใช้และคืนประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นเครือข่ายในภาคธุรกิจจึงมีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคประชาชน ในลักษณะของการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย เช่น เครือข่าย เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เครือข่ายธุรกิจเพื่อปฏิรูปการศึกษา เครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาชุมชน เป็นต้น

จุดแข็งของเครือข่ายภาคธุรกิจ คือ มีกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว มีความสามารถในการระดมทุนเพื่อการจัดการและมีความสามารถในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ข้อจำกัด คือ คำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถทำการลงทุนในการเพื่อพัฒนาสังคมได้อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาความเป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจเอกชน มีความน่าสนใจตรงที่การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพขององค์กร และการรักษาผลประโยชน์ของเครือข่าย รวมทั้งมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

4.5 เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน

องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคม โดยมีพัฒนาการมาจากการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขององค์กรระหว่างประเทศ ที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานและการเรียนรู้ของภาคประชาชน หลังจากนั้นจึงมีการสนับสนุนให้องค์กรและภาคประชาชนให้ดำเนินการจัดการในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยมีเป้าหมาย เพื่อร่วมคลี่คลายปัญหาในสังคม เป็นภาคส่วนที่มีแนวทางในการทำงานที่หลากหลายและมีความพยายามที่จะแสวงหาและเสนอทางเลือกในการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการพัฒนาและมีความสามารถในการพึ่งตนเอง โดยมีบทบาทที่สำคัญ คือ การนำเสนอและผลักดันการแก้ไขปัญหาของผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้ปรากฏขึ้น เช่น ในด้านสิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สวัสดิการและแรงงาน เป็นต้น ซึ่งลักษณะงานขององค์กรพัฒนาเอกชน คือ การเน้นการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนา การสร้างจิตสำนึก การรวมกลุ่ม และการเผยแพร่ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างต่อเนื่องตามภารกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ที่ผ่านมา เครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนได้มีการพัฒนาเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากในสังคมไทย บางเครือข่ายก็ประสบผลสำเร็จในฐานะองค์กรที่ให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ บางองค์กรเครือข่ายก็เป็นฐานทุนให้กับภาคประชาชน แต่ก็มีบางเครือข่ายที่ยังต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศที่นำมาซึ่งความสงสัยในกระบวนการทำงาน ในที่นี้จะยกตัวอย่างองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายและสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น เช่น เครือข่ายด้านแรงงานสัมพันธ์ เครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม เครือข่ายสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

เครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอชนเหล่านี้ เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงในสังคมไทย เป็นพลังขับเคลื่อนให้ภาคประชาชนได้มีความตื่นตัวและปรับตัวในการพัฒนาตนเอง ด้วยความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร ระบบการสื่อสาร และการทำงานในสิ่งที่ตนเองถนัด รวมทั้งการสนับสนุนในด้านวิชาการของสถาบันการศึกษา จึงทำให้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับตนเองและให้ภาคประชาชนได้มุมมองและทางเลือกในการพัฒนา ซึ่งเป็นนิมิตหมายหนึ่งของการพัฒนาที่มี ความหลากหลายในสังคมปัจจุบัน

จุดแข็งของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน คือ การมุ่งเน้นในการเสนอทางเลือกในการพัฒนาสังคม การส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการ การขาดจิตสำนึกของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม รวมทั้งการดำเนินงาน ที่ขัดผลประโยชน์ต่อกลุ่มอิทธิพล จึงทำให้กระบวนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นที่สงสัยเคลือบแคลงของภาครัฐและภาคประชาชน และบางครั้งการใช้กิจกรรมบางประเภทเป็นเครื่องมือในการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับบริบทในสังคมไทย ยิ่งทำให้การยอมรับในการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนมีข้อจำกัดมากขึ้น

4.6 กระบวนการทำงานของเครือข่าย

การทำงานร่วมกัน ถือได้ว่า เป็นภารกิจที่สำคัญของการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย กล่าวคือ ความเป็นเครือข่ายมีความสัมพันธ์กับงานและสัมพันธภาพระหว่างกัน ซึ่งงาน/ภารกิจและความเป็นภาคีต่อกันนั้น จะนำไปสู่การเรียนรู้และการสร้างกระบวนการความเคลื่อนไหวทางสังคม ดังนั้นกระบวนการทำงานของเครือข่าย สามารถพิจารณาได้จากการทำงาน สัมพันธภาพ การเรียนรู้และความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การจัดการกับสิ่งต่างๆ ภายใต้บริบทที่เกิดขึ้น โดยแต่ละเครือข่ายก็มีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และเป้าหมายที่กำหนด ในที่นี้ จะกล่าวถึง กระบวนการทำงานของเครือข่ายต่างๆ มีลักษณะร่วมกันใน ประเด็น คือ

กระบวนการทำงานที่เชื่อมประสานจากจุดเล็กและขยายไปสู่หน่วยใหญ่ ในกระบวนการทำงานของเครือข่ายนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายระดับใดหรือประเภทใด สิ่งที่เครือข่ายต่างๆ ดำเนินการในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ การทำงานที่เชื่อมประสานจากประเด็นเล็กๆ แล้วขยายไปสู่การทำงานที่หลากหลายขึ้น โดยเป็นการขยายทั้งกิจกรรม พื้นที่ และเป้าหมาย การดำเนินการ กล่าวคือ เป็นกระบวนการทำงานที่ต่อยอดจากฐานงานเดิมที่กลุ่มเครือข่ายนั้นมีอยู่ และเป็นการแสวงหาแนวร่วมใหม่ เครือข่ายใหม่ ที่จะช่วยให้เครือข่ายนั้นได้มีความรู้ ประสบการณ์และมีพลังอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยเป็นการที่ทุกฝ่ายเข้ามาศึกษา เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนากิจกรรมร่วมกัน ตัวอย่างเช่น เครือข่ายวิทยุชุมชนในจังหวัดลำปาง ที่ได้สานต่อและดำเนินกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายการศึกษา กลุ่มเซรามิก กลุ่มทิพย์ช้าง เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน และองค์กรประชาชนใน อำเภอ ฯลฯ ร่วมกันจัดตั้งเป็น องค์กรชุมชนคนลำปางที่ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนากิจกรรมการสื่อสารการพัฒนาชุมชน การเสริมสร้างการเรียนรู้ และกิจกรรมเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในจังหวัดลำปางการเริ่มต้นจากจุดเล็กและขยายเป็นหน่วยใหญ่ดังกล่าว เป็นกระบวนการหนึ่งของการทำงานในเครือข่าย โดยเป็นทั้งขั้นตอนของการก่อตัวและกระบวนการทำงาน ซึ่งเครือข่ายที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเข็มแข็งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มองข้ามในจุดเล็ก เริ่มต้นจากการทำงานในสิ่งที่รู้และเข้าใจแล้วค่อยๆ เชื่อมประสานกับองค์กรอื่น เครือข่ายอื่นในประเด็นกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นผลให้การทำงานของเครือข่ายนั้นมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่มากขึ้น และกระบวนการทำงานที่เชื่อมประสานของเครือข่ายในลักษณะนี้ เป็นการทำงานที่ควบคู่กันไปทั้งการทำงานในระดับพื้นที่และการสานต่อไปในระดับนโยบาย นอกจากนี้ในกระบวนการทำงานของเครือข่ายนั้น เครือข่ายส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำงานที่หลากหลาย เช่น การใช้พื้นที่เป็นสถานที่ดำเนินการ การใช้ประเด็นปัญหาเป็นกิจกรรมในการขับเคลื่อนการใช้ศูนย์ประสานงานเป็นที่รวบรวมข้อมูล ฯลฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเน้นการใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่มีอยู่ มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

การรักษาสัมพันธภาพที่สร้างความรู้ ความหมาย และโลกทัศน์ร่วมกัน การที่เครือข่ายจะดำเนินการต่อไปได้นั้น การรักษาสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกและภาคีในเครือข่ายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการรักษาสัมพันธภาพระหว่างกันแล้ว กิจกรรมและความเคลื่อนไหวของเครือข่ายอาจมีการยุติลง เพราะขาดภาคีร่วมดำเนินการ ดังนั้น ในกระบวนการทำงานและการจัดการเครือข่ายจะต้องคำนึงถึงการรักษาสัมพันธภาพที่สร้างความรู้ ความหมาย และโลกทัศน์ร่วม กล่าวคือ หลังจากที่ภาคีในเครือข่ายเห็นความจำเป็นของเครือข่ายว่า มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเครือข่ายและการพัฒนาสังคม สิ่งที่คนในเครือข่ายนั้นจะพึงมีต่อกัน คือ การสร้างความรู้ และความหมายในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เพราะคนในเครือข่ายเดียวกันย่อมจะรู้ความหมายของเครือข่ายมากกว่าคนอื่นๆ การสร้างความรู้ ความหมายภายในเครือข่ายเป็นการสร้างโลกทัศน์หรือมุมมองในการพัฒนาเครือข่ายให้เข็มแข็ง และเป็นการขยายแนวคิดและกระบวนการให้กว้างขวางออกไป โดยการสื่อสารจะเป็นช่องทางที่นำไปสู่การสร้างพันธกรณีและการประสานผลประโยชน์ร่วมกัน การสื่อสารทั้งทางตรงและทางอ้อมของปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์กร จะทำให้เครือข่ายมองเห็นภาพความเคลื่อนไหว และการสร้างความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาความเป็นเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งในการรักษาสัมพันธภาพเพื่อสร้างความรู้ ความหมาย และโลกทัศน์ร่วม

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : 1. การสร้างและการบริหารเครือข่ายในยุคปัจจุบัน ที่มา http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=768&Itemid=32

การจัดการผังเมือง[แก้ไข]

5.1 ความหมาย

การผังเมือง หมายความว่า การวางจัดทำและดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองรวมและ ผังเมืองเฉพาะในบริเวณเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคต และการกำหนดแนวทางดังกล่าวยังต้องคำนึงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัย สวัสดิภาพของสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่ที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอีกด้วย

5.2 การมีส่วนร่วมนารจัดการผังเมืองของประชาชน

ผังเมืองเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนให้รัฐและเอกชนบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆในการพัฒนาเมืองร่วมกัน ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนร่วมในการทำให้เป้าหมายต่างๆกลายเป็นจริงขึ้นมา ได้แก่การสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางผังเมืองนั้นแต่เนื่องจากขั้นตอนในการวางผังเมืองมีความสลับซับซ้อน จึงต้องใช้เวลานานในการดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบ กฏหมายได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานดังนี้

1.) เมื่อจะมีการวางผังเมืองรวม ณท้องที่ใดตามกฏหมายระบุให้ต้องมีการปิดประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้ทราบว่า จะมีการวางและจัดทำผังเมือง ณ ท้องที่นั้น ประชาชนในท้องที่ ดังกล่าวสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการได้ โดยการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวางและจัดทำผังขั้นตอนนี้พอจะเปรียบเทียบกับงานออกแบบบ้านได้ว่าประชาชนในท้องที่ที่จะวางผังก็คือเจ้าของบ้านหรือผู้ใช้อาคาร ซึ่งควรจะชี้แจงความต้องการต่างๆของข้อมูลสมาชิกในครอบครัวให้สถาปนิกทราบ เพื่อจะได้เป็นแนวนโยบายในการออกแบบให้ถูกวัตถุประสงค์ในการใช้สอยอาคารของเจ้าของ

2) ในระหว่างการวางผัง ซึ่งจะต้องมีการสำรวจเก็บข้อมูล วิเคราะห์ วิจัย เจ้าหน้าที่ผู้วางผังจะเข้าพบคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานประกอบด้วยผู้แทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นผู้แทนส่วนราชการต่างๆและบุคคลอื่นๆ ซึ่งถือว่าคือส่วนหนึ่งของตัวแทนประชาชน เพื่อขอทราบแนวนโยบายและความต้องการของท้องถิ่น เมื่อวางผังเบื้องต้นเสร็จแล้วก็จะต้องนำผังนั้นไปปิดประกาศและประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนไม่น้อยกว่า 1 ครั้งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการช่วงนี้ได้โดยการเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังและแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม ผู้วางผังก็จะนำความคิดเห็นและความต้องการต่างๆนั้นไปประมวลกับหลักวิชาการเพื่อพิจารณาจัดวางผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและความต้องการของชุมชนนั้นๆ

3) เมื่อวางผังเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะนำผังเสนอให้คณะกรรมการผังเมืองซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อผังได้รับความเห็นชอบแล้วจะต้องนำผังไปปิดประกาศในท้องที่ที่ทำการวางผังเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปตรวจดูแผนผังและข้อกำหนดของผัง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารร้องขอให้แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองนั้นๆโดยทำเป็นหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้วางและจัดทำผังนั้น

ประโยชน์ของการจัดการผังเมือง

• ทำให้เมืองหรือชุมชนมีความสวยงามเจริญเติบโตอย่างมีระเบียบแบบแผนและถูกสุขลักษณะ

• เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเมืองหรือชุมชนให้มีระเบียบโดยวางผังโครงการคมนาคมและขนส่งให้สัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต

• ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย

• ส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองหรือชุมชน

• ส่งเสริมสภาพแวดล้อมของเมืองหรือชุมชนให้มีที่โล่งเว้นว่าง มีสวนสาธารณะมีที่พักผ่อนหย่อนใจ

• ดำรงรักษาสถานที่ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์และโบราณคดีบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิประเทศที่งดงามทั้งในเขตเมืองและชนบท

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :

1. กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มาhttp://services.dpt.go.th/dpt_faqs/index.php?option=com_content&task=view&id=17&Itemid=27

การบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน[แก้ไข]

1.1 ประเภทของภัยพิบัติทางธรรมชาติและหลักปฏิบัติเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ

1.1.1 ลมฟ้าอากาศและพายุ

เป็นชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศความเร็วลมความกดอากาศและปริมาณไอน้ำในอากาศโดยมีดวงอาทิตย์แหล่งพลังงานที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศเพราะดวงอาทิตย์ส่งพลังงานคลื่นสั้นผ่านชั้นบรรยากาศลงมาสู่ผิวโลกบางส่วนกระเจิงโดยโมเลกุลของก๊าซและฝุ่นละอองในบรรยากาศบางส่วนสะท้อนจากก้อนเมฆลงสู่ผิวดินบางส่วนถูกสะสมไว้ในดินทำให้ดินมีอุณหภูมิสูงขึ้นและในทางตรงกันข้ามผิวโลกอากาศเมฆไอน้ำต้นไม้ดินหิมะแหล่งน้ำก็มีการแผ่กระจายคลื่นช่วงยาวสู่บรรยากาศตลอดเวลาเช่นกันอย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกที่เรียกว่าลมฟ้าอากาศจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆเช่นลักษณะอากาศระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่แล้วมาหรือลักษณะอากาศในระยะเวลาเวลา 1 ชั่วโมงข้างหน้า

การปฏิบัติตน

๏รับฟังข่าวเตือนภัยเกี่ยวกับการเกิดและเส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีการกระจายคำเตือนภัยอย่างรวดเร็วให้แก่ประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัย

๏ชุมชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันสำรวจพื้นที่ต่างๆใกล้ชายฝั่งทะเลเพื่อก่อสร้างอาคารหลบภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยและกำหนดเส้นทางหนีภัยพื้นที่หลบภัยอย่างชัดเจนแผนฉุกเฉินตลอดจนฝึกซ้อมการอพยพหลบภัยตามแผนที่กำหนดเพื่อลดความตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง

๏อย่าออกเรือหลบอยู่ในที่ที่มีความมั่นคงตัดต้นไม้สูงที่ไม่แข็งแรงและอาจล้มทับบ้านได้และติดตั้งอุปกรณ์เสริมความแข็งแรงของหน้าต่าง

๏เตรียมเติมน้ำมันรถและสำรองอาหารถ่านไฟฉายอุปกรณ์ยังชีพและเบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่เพราะอาจมีน้ำท่วมฉับพลัน


1.1.2 อุทกภัย

ผลกระทบของภัยน้ำท่วมนอกจากจะสร้างความเสียหายและอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐทั้งที่ประเมินค่าได้และประเมินค่าไม่ได้ซึ่งจะคุกคามความเป็นอยู่และกระทบหลายด้านอย่างช้าๆได้แก่การกัดเซาะชายฝั่งการรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดินและน้ำจืดส่วนการประมงการท่องเที่ยวชายฝั่งและเกาะเล็กเกาะน้อยต่างๆต้องเสี่ยงภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นบางส่วนอาจจะเลวร้ายจนถึงขั้นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ต้องมีการอพยพครั้งใหญ่การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมมีดังต่อไปนี้

• การเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม

มีสองส่วนที่สำคัญที่ต้องดำเนินการพร้อมกันคือ ควรมีการเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อคาดคะเนและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองและทรัพย์สินโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมซึ่งหมายถึงผู้ที่บ้านเรือนโดนน้ำท่วมประจำทุกปีหรืออยู่ในละแวกใกล้เคียงกับแม่น้ำลำคลองและพื้นที่น้ำท่วม ควรจัดทำแผนรับมือน้ำท่วมของครอบครัวเพื่อช่วยเตือนความจำจากความเร่งรีบความตื่นเต้นและคลายความกังวลจากภัยน้ำท่วมและปฏิบัติดังนี้

1) หากมีการเตือนการเฝ้าระวังน้ำท่วมติดตามการรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งซักซ้อมความเข้าใจกับครอบครัวเรื่องแผนในการรับมือน้ำท่วม

2) เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพเช่นน้ำดื่มอาหารแห้งและอาหารกระป๋องยาวิทยุพกพาไฟฉายแบตเตอรี่สำรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็นต้นเพื่อใช้ขณะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วมแต่อย่าพกพามากเกินไปเพราะอาจจะเป็นภาระในการอพยพและให้คิดว่า “ชีวิตสำคัญที่สุด”

3) เคลื่อนย้ายคนสัตว์เลี้ยงพาหนะให้พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน

4) เรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นและสร้างทักษะความชำนาญแก่ครอบครัวเช่นหมายเลขโทรศัพท์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเส้นทางการเดินทางการอพยพที่ปลอดภัยจุดนัดหมายหากเกิดการพลัดหลงระบบเตือนภัยของรัฐหรือติดตั้งอุปกรณ์ (กระสอบทรายแผ่นพลาสติกกาวซิลิโคนฯ)สำหรับป้องกันน้ำท่วมและน้ำไหลเข้าบ้านทางประตูห้องน้ำท่อช่องว่างของกำแพงและรอบรั่วต่างๆ


• การเตรียมตัวระหว่างเกิดน้ำท่วม

หากมีการเตือนน้ำท่วมและอยู่ในบริเวณพื้นที่น้ำท่วมปิดแก๊สและตัดสะพานไฟอุดปิดช่องต่างๆที่น้ำสามารถไหลเข้ามาได้เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีค่าไปไว้ในที่สูงซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการอพยพกับสมาชิกในครอบครัวอีกครั้งหากอยู่ในบ้านจงอยู่ในส่วนของอาคารที่แข็งแรงและอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อนหากอพยพออกนอกบ้านจงล็อคประตูบ้านและอพยพโดยหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการอพยพผ่านเส้นทางน้ำไหลระมัดระวังจากสัตว์มีพิษเช่นงูตะขาบแมงป่องที่มักหนีขึ้นมาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนและสถานที่เปียกชื้นอีกทั้งควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดอย่าปล่อยให้ออกไปเล่นน้ำเพราะในช่วงน้ำท่วมกระแสน้ำจะเชี่ยวกรากมากกว่าปกติอาจโดนกระแสน้ำพัดจมน้ำและเสียชีวิตได้

หรือหากมีการเตือนน้ำท่วมฉับพลันซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าให้ดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ซึ่งหากอยู่ใกล้ภูเขาให้อพยพขึ้นไปยังที่สูงหรือสถานที่ที่ปลอดภัยเช่นสถานที่หลบภัยของหน่วยงานซึ่งสามารถรู้ได้จากการรับฟังวิทยุท้องถิ่นโทรทัศน์หรือวิทยุพกพาที่ได้จัดเตรียมไว้หลีกเลี่ยงการขับรถเล่นน้ำหรืออพยพผ่านเส้นทางน้ำหลากตลอดจนติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดส่วนบ้านเรือนที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะภัยน้ำท่วมอาจเกิดขึ้นบริเวณบ้านของคุณได้และปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น

• การเตรียมตัวหลังน้ำท่วม หลังจากน้ำท่วมควรดูแลตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจของคุณและคนในครอบครัวเนื่องจากความเจ็บป่วยทางจิตใจ (ความเครียดและความวิตกกังวล) อาจใช้เวลาในการรักษานานกว่าทางกาย (บาดแผลต่างๆโรคน้ำกัดเท้าและผื่นคันโรคอุจจาระร่วงโรคตาแดง) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องสุขอนามัยอีกทั้งการเก็บกวาดกำจัดทำลายและตรวจสอบความเสียหายของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั้งในบ้านและรอบบ้าน

1.1.3 แผ่นดินถล่ม ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้นจึงส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบริเวณภูเขาเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้และบริเวณทะเลอันดามันและจากพายุหมุนเขตร้อนทั้งจากพายุใต้ฝุ่นไซโคลนโซนร้อนและดิเปรสชั่นจนบางครั้งได้ก่อให้เกิดพิบัติภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากกล่าวคือเมื่อเกิดความแปรปวนของสภาพอากาศการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตลอดจนภาวะโลกร้อนทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากจนกระทั่งดินชุ่มอิ่มตัวด้วยน้ำน้ำฝนส่วนใหญ่จึงไหลไปตามผิวดินลงสู่ทางน้ำและรวมตัวกันเป็นน้ำป่าไหลหลากส่วนดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและแรงยึดเกาะระหว่างเม็ดลดลงบางครั้งจึงเกิดการเลื่อนไหลของดินลงมาตามไหล่เขาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงและมีชั้นดินปกคลุมหนาเกิดการเลื่อนไหลหรือถล่มพร้อมกันหลายจุดไหลปนไปกับน้ำพร้อมทั้งเศษซากไม้ทำให้ความรุนแรงของภัยพิบัติเพิ่มขึ้นเนื่องจากน้ำปนดินทรายดังกล่าวจะมีความหนาแน่นหรือค่าถ่วงจำเพาะเพิ่มขึ้นจึงมีพลังงานที่จะยกก้อนหินหรือสิ่งของขนาดใหญ่ให้ไหลลงมาพร้อมกับน้ำปนดินทรายดังกล่าวเมื่อปะทะกับสิ่งใดจึงสร้างความเสียหายมากกว่าน้ำท่วมธรรมดาซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างหรือส่งผลกระทบหลายชุมชนพร้อมกัน

ข้อสังเกตพื้นที่เสียงภัยดินถล่มมีดังนี้

๏ อยู่ใกล้ไหล่เขาที่มีความลาดชันสูงหรือมีรอยดินแยกบนไหล่เขา

๏ อยู่ในหุบเขาแคบๆที่มีทางน้ำไหลผ่าน

๏ เคยประสบเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก

๏ อยู่ใกล้ทางน้ำที่ไหลออกมาจากหุบเขาและเคยถูกน้ำท่วม

๏ พบตะกอนที่เกิดจากดินถล่มในอดีต

ข้อควรปฏิบัติเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

เมื่อท่านมีเหตุจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มการเรียนรู้ถึงพฤติกรรมการเกิดดินถล่มการวางแผนหลบภัยและการฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมรับภัยจะช่วยลดผลกระทบและทำให้ปลอดภัยจากพิบัติภัยดินถล่มได้การเรียนรู้ถึงพฤติกรรมการเกิดดินถล่มเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชาวบ้านนักท่องเที่ยวและผู้มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเนื่องจากก่อนเกิดดินถล่มมักจะมีสิ่งบอกเหตุที่ชาวบ้านทั่วไปสังเกตได้ง่ายเช่น

๏ ก่อนเกิดดินถล่มมักจะมีฝนตกหนักมาก (โดยทั่วไปจะมากกว่า100 มิลลิเมตร) หรือมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน (รวมกันได้มากกว่า 300 มิลลิเมตร)

๏ ระดับน้ำในทางน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ในบางกรณีระดับลดลงผิดปกติในขณะที่ฝนยังตกอยู่ (เกิดดินถล่มปิดเส้นทางน้ำ)

๏ สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีดินบนภูเขาและมีเศษซากต้นหญ้าและต้นไม้ลอยตามน้ำ

๏ มีเสียงดังผิดปกติในพื้นที่หุบเขาหรือในพื้นที่ต้นน้ำเสียงกิ่งไม้หักเสียงคล้ายฟ้าร้องหรือเหมือนเครื่องบินลง

๏ มีสัตว์ป่าวิ่งหนีเข้ามายังหมู่บ้าน

1.1.4 แผ่นดินไหว

สำหรับประเทศไทยนั้นค่อนข้างโชคดีด้วยลักษณะภูมิประเทศและที่ตั้งของประเทศไม่ได้ตั้งอยู่แนวแผ่นดินไหวของโลกดังนั้นประเทศไทยจึงถูกจัดอยู่ในบริเวณที่มีภัยแผ่นดินไหวระดับต่ำจนถึงปานกลางซึ่งสามารถยืนยันจากข้อมูลในประวัติศาสตร์และสถิติอดีตที่ผ่านมาประมาณ 700-800 ปีประเทศไทยยังไม่เคยมีประวัติศาสตร์ความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศอย่างไรก็ตามแม้ว่าไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยแต่พบว่าแผ่นดินไหวขนาดระดับปานกลางระดับ 6.0ริคเตอร์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงและไม่ได้ออกแบบสร้างให้ต้านทานต่อแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่มีพลังสำหรับประชาชนและชุมชนก่อนการเกิดแผ่นดินไหว

๏ ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉายและกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้านและให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน

๏ ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

๏ ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้านเช่นเครื่องดับเพลิงถุงทรายเป็นต้น

๏ ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำวาล์วปิดก๊าซสะพานไฟฟ้าสำหรับตัดกระแสไฟฟ้า

๏ อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้นหรือหิ้งสูงๆเมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้

๏ ผูกเครื่องใช้หนักๆให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน

๏ ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมายในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกันเพื่อมารวมกันอีกครั้งในภายหลัง

๏ สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

๏ อย่าตื่นตกใจพยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้านถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้านเพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้านอย่าใช้เทียนไม้ขีดไฟหรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกาย ไฟเพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น

๏ ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว

๏ หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่งเพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง

๏ หากอยู่ในอาคารสูงควรตั้งสติให้มั่นและรีบออกจากอาคารโดยเร็วหนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้

๏ หากอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าต้นไม้ป้ายโฆษณาและสิ่งห้อยแขวนต่างๆที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง

๏ หากอยู่ในบ้านให้ยืนหรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงที่สามารถรับน้ำหนักได้มากและให้อยู่ห่างจากประตูระเบียงและหน้าต่าง

๏ หากอยู่ในโรงเรียนประกาศอย่าตื่นตระหนกใช้มือประสานศีรษะมุดใต้โต๊ะเก้าอี้เมื่อความสั่นสะเทือนหยุดทยอยออกมาสู่ที่โล่ง

๏ หากอยู่ในรถให้จอดรถเมื่อสามารถจอดได้อย่างปลอดภัยและจอดในที่ซึ่งไม่มีของหล่นใส่อยู่ห่างจากอาคารต้นไม้ทางด่วนสะพานลอยเชิงเขาเป็นต้น

๏ หากอยู่ในเรือความสั่นสะเทือนเนื่องจากแผ่นดินไหวไม่ทำอันตรายผู้อาศัยอยู่บนเรือกลางทะเลยกเว้นในกรณีเกิดสึนามิเรือที่อยู่ใกล้ชายฝั่งจะได้รับความสียหายให้นำเรือออกสู่ทะเลลึก

๏ หากติดอยู่ในซากอย่าติดไฟอยู่อย่างสงบเคาะท่อฝาผนังเพื่อเป็นสัญญาณต่อหน่วยช่วยชีวิตช่วยเหลือซึ่งกันและกันและให้กำลังใจต่อกันหลังเกิดแผ่นดินไหว

๏ ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน

๏ ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันทีเพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้

๏ ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอเพราะอาจมีเศษแก้วหรือวัสดุแหลมคมอื่นๆและสิ่งหักพังแทง

๏ ตรวจสายไฟท่อน้ำท่อแก๊สถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊สยกสะพานไฟอย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว

๏ ตรวจสอบว่าแก๊สรั่วด้วยการดมกลิ่นเท่านั้นถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน

๏ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาดและวัสดุสายไฟพาดถึง

๏ เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉินอย่าใช้โทรศัพท์นอกจากจำเป็นจริงๆ

๏ สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วมและท่อน้ำทิ้งก่อนใช้

๏ อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูงหรืออาคารพัง

๏ อย่าแพร่ข่าวลือ

1.1.5 สึนามิ

แผ่นดินไหวในท้องทะเลที่เกิดขึ้นบางครั้งได้ก่อให้เกิดการยกตัวของพื้นทะเลขึ้นหลายเมตรและทำให้น้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเลหรือน้ำในแม่น้ำลำคลองปริมาณมากเคลื่อนตัวอย่างทันทีทันใดด้วยความสูงที่มากกว่าระดับน้ำปกติหรือที่เรียกว่า “สึนามิ” ซึ่งเป็นกลุ่มของคลื่นขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่พื้นที่บริเวณชายฝั่งและเมื่อสึนามิซัดเข้าชายฝั่งยังให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคที่อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นอย่างมากสึนามิยังสามารถเกิดได้จากการชนของอุกาบาตได้เช่นเดียวกันคลื่นสึนามิจะไม่เกิดเพียงระลอกเดียวและคลื่นลูกหลังอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าลูกแรกข้อควรสังเกตคือเมื่อน้ำทะเลลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติสึนามิที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งในระยะใกล้ซึ่งมีเวลาในการเตือนล่วงหน้าค่อนข้างน้อยอย่างเช่นที่ฮาวายสหรัฐอเมริกาและที่ฟุกุชิมะประเทศญี่ปุ่น (2554) และสึนามิที่เกิดและส่งผลกระทบพื้นที่จากระยะไกลซึ่งสามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ถึงประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งเช่นสึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย (2547)ความเสียหายของพื้นที่เสียงภัยสึนามิมีดังนี้ฐานรากของอาคารฐานรากของอาคารที่อยู่ริมทะเลส่วนใหญ่เป็นฐานรากแผ่เมื่อเกิดการกัดเซาะของดินใต้ฐานรากจะทำให้ฐานรากลอยทำให้เกิดการถ่ายแรงภายในของโครงสร้างใหม่โดยอาจทำให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างทั้งโครงสร้างได้องค์ประกอบหลักของโครงสร้างอาคารจากการสำรวจพบว่าเสาที่มีหน้าตัดขนาดเล็กเช่นหน้าตัด 150 มม. x150 มม. มักจะวิบัติที่ระดับสูงประมาณ 2.5 ม.หรือมากกว่านั้นและโครงสร้างส่วนมากมีจุดต่อที่ไม่ดีและมีการทาบเหล็กที่ระดับเดียวกัน 100 %ระยะทาบไม่เพียงพอและเกิดการวิบัติกับอาคารตรงจุดต่อที่ไม่สามารถต้านแรงดัดได้อีกทั้งเสาอาคารในชั้นล่างที่เปิดโล่งมีโอกาสที่ถูกสิ่งที่ลอยมาตามน้ำกระแทกทำให้เกิดการพังทลายได้ท่าเรือความเสียหายที่ปรากฏนอกจากความเสียหายของคานและเสาแล้วยังพบว่าแผ่นพื้นที่เป็นพื้นสำเร็จรูปถูกยกให้หลุดมาจากจุดยึดต่อกับคานและลอยไปกับคลื่นซึ่งก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งก่อสร้างและผู้คนที่อยู่บนฝั่ง สะพานความเสียหายที่ปรากฏแบ่งเป็น 2 ลักษณะแบบแรกคือแผงกั้นล้มเพราะแรงดันน้ำที่ไหลขึ้นมาตามทางน้ำและแบบที่สองคือการกัดเซาะที่ตอหม้อริมซึ่งเกิดกับสะพานที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ

ข้อควรปฏิบัติ

๏ ตรวจสอบพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัยว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยหรือไม่หากใช่ควรศึกษาถึงเส้นทางอพยพและพื้นที่หลบภัยสร้างความคุ้นเคยกับป้ายสัญญาณเตือนภัยหรือเส้นทางเตรียมอุปกรณ์ยังชียไฟฉายและวิทยุแบบใช้แบตเตอรี่

๏ เมื่อได้รับสัญญาณเตือนภัยหากอยู่ในเรือที่บริเวณใกล้ชายฝั่งให้ออกเรือไปยังน้ำลึกทันที

๏ เมื่อได้รับสัญญาณเตือนภัยหากอยู่บริเวณชายหาดให้รีบขึ้นสู่ที่สูงในบริเวณทันที

๏ ควรอพยพด้วยการเดินเร็วมากกว่าการใช้ยานพาหนะ

๏ ฟังข่าวสารทางวิทยุโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องและกลับเข้าสู่ที่พักอาศัยเมื่อมีประกาศจากทางราชการเท่านั้นว่าปลอดภัย

1.1.6 คลื่นความร้อน

คลื่นความร้อน (Heat Wave) กรมอุตุนิยมวิทยาได้นิยามว่าคือการที่อากาศอุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหรือการเคลื่อนตัวของอากาศที่ร้อนจัดเข้าสู่บริเวณกว้างอีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาได้กำหนดเกณฑ์อากาศร้อนอุณหภูมิตั้งแต่ 35.0-39.9 องศาเซลเซียสและอากาศร้อนจัดอุณหภูมิตั้งแต่ 40.0องศาเซลเซียสขึ้นไปคลื่นความร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แต่มีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะความชื้นจากทะเลจะพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยอีกทั้งในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นระยะเวลาที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์โดยเฉพาะเดือนเมษายนซึ่งดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวันทำให้ประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่บางครั้งยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนปกคลุมการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปีและปีใดที่มีปรากฎการณ์แอลนีโญเกิดขึ้นก็จะเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้นและในแต่ละวันอุณหภูมิของเวลา13.00 – 16.00 น. ของแต่ละวันเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของวันโดยเฉพาะช่วงเวลา 14.00 น. เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดคลื่นความร้อนที่มากับอากาศร้อนสูงมีผลต่อการไหลเวียนของเลือดในร่างกายและร่างกายต้องทำงานหนักมากเพื่อจัดการกับอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติด้วยการพาความร้อนออกจากร่างกายจะมีอาการหอบหรือใจสั่นเมื่อเลือดมีความร้อนสูงกว่า 37 องศาเซลเซียสความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายเพื่อรับการไหลของเลือดที่เพิ่มมากขึ้นเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังก็จะระบายความร้อนที่เกินไปยังบรรยากาศที่เย็นกว่าขณะที่น้ำซึมผ่านผิวหนังตอนที่เหงื่อออกถ้าความชื้นสูงก็จะทำให้การระเหยของเหงื่อช้าลงซึ่งอาจทำให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายล้มเหลวจนถึงเสียชีวิตได้ความเสี่ยงสูงสุดของความร้อนที่สัมพันธ์กับความเจ็บป่วยที่มีผลต่อมนุษย์ได้แก่

1. เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ขวบ

2. คนที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า

3. คนอ้วนหรือคนที่มีน้ำหนักตัวมาก

4. คนที่ออกแรงมากในขณะทำงานหรือออกกำลังกาย

5. คนป่วยหรือผู้ทานยาเป็นประจำ


ข้อควรปฏิบัติเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

1.) หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงอาทิตย์มากเกินไปหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้กำลังมากและทำกิจกรรมให้ช้าลงแต่ถ้าต้องการกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นควรทำในช่วงเวลาที่อากาศเย็นที่สุดของซึ่งปกติจะอยู่ช่วง เช้า 4.00-7.00 น.

2.) หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดอุณหภูมิสูงสุดของร่างกายการเย็นลงของร่างกายจากการอาบน้ำทันทีทันใดภายหลังจากการที่กลับเข้ามาจากภายนอกบ้านที่มีอุณหภูมิร้อนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก

3.) ประหยัดไฟฟ้าในที่ไม่ต้องการและทำให้อากาศเย็นระหว่างช่วงเวลาที่ร้อนมากซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าจำนวนมากกว่าปกติเพื่อใช้กับเครื่องปรับอากาศเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ

4.) น้ำเป็นของเหลวที่ปลอดภัยที่สุดสามารถดื่มระหว่างที่มีเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับความร้อนที่เกิดขึ้นหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสิ่งที่มีคาเฟอีนซึ่งจะทำให้รู้สึกดีขึ้น

5.) การกินอาหารน้อยๆกินบ่อยๆและกินอาหารมากจะทำให้ย่อยยากและเป็นสาเหตุเพิ่มความร้อนภายในร่างกายเพื่อช่วยย่อยอาหารที่กินไปควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูงเช่นเนื้อวัวถั่ว

6.) อย่างทิ้งเด็กและสัตว์เลี้ยงไว้ตามที่สาธารณะต่างๆถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 57.2 องศาเซลเซียสมากกว่า 10 นาทีก็จะทำให้เด็กและสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้

7.) โดยทั่วไปการรักษาสำหรับกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับความร้อนคือทำให้ร่างกายเย็นลงโดยให้ดื่มเครื่องดื่มและให้มีอาการช็อกเกิดขึ้นน้อยที่สุด

1.1.7 ภัยแล้ง

ภัยแล้งของประเทศไทยเกิดขึ้นทุกปีส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้ง10 และฝนทิ้งช่วง11 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่พืชไร่ที่เพาะปลูกไว้สัตว์มนุษย์ฯซึ่งภัยแล้งคือภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและส่งผลกระทบต่อชุมชนประเด็นที่จะต้องระวังคือปัญหาด้านสังคมอาทิเช่นปัญหาการพิพาทกันในเรื่องแย่งน้ำทั้งระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองและปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่รวมทั้งปัญหาในเรื่องที่ชาวนาบางส่วนต้องซื้อน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อไม่ให้ข้าวที่ปลูกไปแล้วเสียหายส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มสูงขึ้นนอกจากนี้สินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นคือปศุสัตว์และประมงส่วนความเสียหายและผลกระทบในด้านอื่นๆเช่นผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขินระดับน้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลงเกิดการกัดเซาะของหน้าดินและการทิ้งร้างที่ดิน, ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเช่นจำนวนและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรต่ำทำให้ราคาผลผลิตลดลง, ผลกระทบทางด้านสังคมเกิดการละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่คุณภาพชีวิตลดลงและเกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำ

ข้อควรปฏิบัติ

๏ เตรียมเก็บน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคให้เพียงพออย่ารีรอ

๏ ขุดลอกคูคลองและบ่อน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำเพียงพอต่อครัวเรือน

๏ วางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อการเกษตรและควรใช้น้ำในช่วงเช้าและเย็นเพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำ

๏ กำจัดวัสดุเชื้อเพลิงรอบที่พักเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าและการลุกลาม

๏ เตรียมเบอร์โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉินต่างๆหากพบเห็นการเกิดไฟป่าเนื่องจากภาวะแห้งแล้งให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่

1.1.8 ไฟป่า

“ไฟป่า” คือไฟที่เกิดขึ้นจากสาเหตุอันใดก็ตามแล้วลุกลามไปได้โดยอิสระปราศจากการควบคุมทั้งนี้ไม่ว่าไฟนั้นจะเกิดขึ้นในป่าธรรมชาติหรือสวนป่าซึ่งมีองค์ประกอบของไฟป่าคือเชื้อเพลิงหรือวัตถุที่เป็นอินทรีย์สารต่างๆเช่นต้นไม้กิ่งไม้ไม้พุ่มใบไม้กอไผ่และวัชพืชเป็นต้นอากาศซึ่งหมายถึงปริมาณออกซิเจนในอากาศและความร้อนซึ่งแบ่งออกเป็น2 ประเภทคือแหล่งความร้อนจากธรรมชาติและจากมนุษย์ชนิดของไฟป่าสามารถจำแนกได้เป็น 3 ชนิดตามลักษณะของเชื้อเพลิงที่ถูกเผาไหม้ดังนี้

• ไฟใต้ดินเป็นไฟที่ไหม้อินทรียวัตถุที่สะสมอยู่ในดินไฟชนิดนี้จะลุกลามใต้ผิวดินอย่างช้าๆตรวจพบยากที่สุดสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ป่าไม้มากที่สุดแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยคือ - ไฟใต้ดินสมบูรณ์แบบ - ไฟกึ่งผิวดินกึ่งใต้ดิน

• ไฟผิวดินเป็นไฟที่ลุกลามไปตามพื้นป่าไฟชนิดนี้มีการลุกลามอย่างรวดเร็วไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นไฟชนิดนี้

• ไฟเรือนยอดเป็นไฟที่ลุกลามไปตามเรือนยอดของต้นไม้โดยเฉพาะในป่าสนไฟเรือนยอดมีความรุนแรงและอันตรายมากยากต่อการควบคุมข้อควรปฏิบัติ

ข้อควรปฏิบัติ

๏เมื่อพบเห็นไฟป่าต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทันทีไฟป่าหากรีบดับโดยเร็วจะไม่ลุกลามอย่างกว้างขวางไฟป่าสามารถลุกลามข้ามถนนเมื่อมีลมแรงดังนั้นการดับไฟต้องอยู่เหนือลมอย่าลังเลที่จะหนีภัยเพราะอาจจะถูกเพลิงล้อมได้และฟังข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

๏เตือนประชาชนที่อาศัยตามแนวชายป่าให้ร่วมกันป้องกันไฟป่าด้วยการเก็บกวาดใบไม้กิ่งไม้และวัชพืชให้เป็นแนวโล่งเตียนเพื่อกำจัดเชื้อเพลิงเกษตรกรควรดูแลพื้นที่การเกษตรโดยหมั่นตัดหญ้าเก็บกวาดใบไม้แห้งอย่าปล่อยให้กองสุมเพราะหากเกิดไฟไหม้จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีทำให้ไฟปะทุมากขึ้นสำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกให้ใช้การกลบแทนการเผาหากจำเป็นต้องจุดไฟเผาในพื้นที่การเกษตรต้องทำแนวกันไฟและควบคุมการเผาอย่างใกล้ชิด

๏สร้างแนวกันไฟ (Firebreaks) เพื่อลดความรุนแรงของไฟป่าไม่ให้เกิดจากพื้นที่ด้านหนึ่งลุกลามเข้าไปอีกด้านหนึ่งกล่าวคือเป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามออกมาจากพื้นที่ที่กำหนดซึ่งแนวกันไฟจะทำเอาไว้ก่อนล่วงหน้าเกิดไฟป่าและแตกต่างจากแนวดับไฟ(Fire line) ซึ่งจะทำในขณะที่กำลังเกิดไฟไหม้และทำขึ้นเพื่อการดับไฟทางอ้อม (Indirect attach) หรือทำเพื่อการดับไฟด้วยไฟ (Back firing)

๏นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวป่าควรศึกษาวิธีการก่อกองไฟและควรเพิ่มความระมัดระวังในการจุดไฟหากต้องการก่อกองไฟให้ความอบอุ่นหรือหุงต้มอาหารต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังใช้งานเสร็จแล้วเพื่อป้องกันการลุกลามของไฟและเตรียมน้ำสำหรับดับไฟรวมทั้งไม่ควรจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่าอย่างเด็ดขาดห้ามทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้าแห้ง

1.1.9 อัคคีภัย

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้ซึ่งมี 10 ขั้นตอนคือ

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนเข้าพักในอาคารควรศึกษาเรื่องตำแหน่งบันไดหนีไฟเส้นทางหนีไฟทางออกจากตัวอาคารการติดตั้งอุปกรณ์ระบบ Sprinkle และอุปกรณ์อื่นๆรวมทั้งต้องอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้และการหนีไฟอย่างละเอียด

ขั้นตอนที่ 2 ขณะที่อยู่ในอาคารควรหาทางออกฉุกเฉินสองทางที่ใกล้ห้องพักตรวจสอบดูว่าทางออกฉุกเฉินไปปิดล๊อคตายหรือมีสิ่งกีดขวางและสามารถใช้เป็นเส้นทางออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยตลอดจนนับจำนวนประตูห้องโดยเริ่มจากห้องท่านไปยังทางออกฉุกเฉินทั้งสองทางเพื่อไปถึงทางออกฉุกเฉินได้แม้ว่าไฟฟ้าจะดับหรือปกคลุมไปด้วยควันไฟ

ขั้นตอนที่ 3 วางกุญแจห้องพักและไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอนถ้าเกิดเพลิงไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วยอย่ามัวเสียเวลากับการเก็บสิ่งของรวมถึงควรเรียนรู้และฝึกเดินภายในห้องพักในความมืดบ้าง

ขั้นตอนที่ 4 หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้แล้วเปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้จากนั้นหนีออกจากอาคารพร้อมโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงทันที

ขั้นตอนที่ 5 ให้หนีออกมาแล้วปิดประตูห้องทันทีรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคารเพื่อโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิง

ขั้นตอนที่ 6 ก่อนจะหนีออกมาให้วางมือบนประตูหากประตูมีความเย็นอยู่ค่อยๆเปิดประตูแล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

ขั้นตอนที่ 7 ประตูจะมีความร้อนห้ามเปิดประตูเด็ดขาดให้โทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงและแจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใดของเพลิงไหม้หาผ้าเช็ดตัวชุบน้ำให้เปียกปิดทางเข้าของควันปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศพร้อมส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง

ขั้นตอนที่ 8 ให้ปิดจมูกและปากด้วยผ้าชุ่มน้ำเพื่อป้องกันการสำลักควันคลานตัวไปให้ต่ำกว่าควันไฟพยายามทำตัวให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะควันจะลอยอยู่บ้านบนและอากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านล่าง (เหนือพื้นห้อง) ถ้าเสื้อผ้าติดไฟให้หยุดนอนลงและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ

ขั้นตอนที่ 9 พยายามมองหาทางหนีไฟห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาดขณะเกิดเพลิงไหม้และไม่ควรใช้บันไดภายในอาคารหรือบันไดเลื่อนเนื่องจากบันไดเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันควันไฟและเปลวไฟได้ให้ใช้บันไดหนีไฟภายในอาคารเท่านั้น

การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บจากไฟไหม้เบื้องต้น

1.) ใช้น้ำสะอาดราดรดหรือแช่ผู้บาดเจ็บจากไฟลวกเพื่อลดความเจ็บปวดของบาดแผลและหยุดการทำลายจากความร้อน

2.) หากผู้บาดเจ็บสวมแหวนนาฬิกากำไลซึ่งสัมผัสกับความร้อนเป็นเวลานานให้รีบถอดออกเพราะบริเวณที่ถูกความร้อนจะเกิดอาการบวม

3.) ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลถ้าหาไม่ได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปลอกหมอนหรือผู้ปูที่นอนพันบาดแผลไว้และรีบนำส่งโรงพยาบาล

4.)โรคระบาดเป็นภัยประเภทหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากรวมถึงเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมจิตวิทยาและความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการระบาดใหญ่จากการ ติดต่อในคนสู่คนผ่านโรคติดต่อทางอาหารและน้ำซึ่งเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปเช่นอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆหรืออาหารที่มีแมลงวันตอมหรืออาหารที่ทิ้งไว้ค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็นไว้และไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน

วิธีการปฏิบัติตนเองในการป้องกันการติดเชื้อจากโรคระบาด

๏ อย่าตระหนกตกใจจนเกินเหตุไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009และไข้หวัดใหญ่ทั่วไปติดต่อถึงกันได้ง่ายๆแต่จะแพร่เชื้อได้ก็ต่อเมื่อใกล้ชิดกับคนที่มีอาการเท่านั้นดังนั้นเราควรเป็นหูเป็นตาหากพบผู้ใกล้ชิดมีอาการเบื้องต้นคือ มีไข้สูงปวดเมื่อยตามตัวปวดศีรษะไอจามให้รีบพาไปพบแพทย์และลางานหรือหยุดเรียนเป็นการชั่วคราวเพื่อพักผ่อนและรักษาตัวให้หายเป็นปกติเพื่อเป็นการจำกัดวงจรการแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่น

๏ อย่าไปอยู่ในที่ซึ่งแออัดช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเราควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆเพราะสถานที่แออัดต้องเบียดเสียดกันเพราะเมื่อมีคนไอหรือจามเชื้อโรคมีโอกาสเข้าสู่จมูกของเราได้ง่าย

๏ อย่าเอามือสัมผัสตาจมูกปากซึ่งเป็นจุดเสี่ยงในการติดเชื้อสำหรับคนที่ชอบเอามือขยี้ตาและแคะจมูกรวมทั้งชอบกัดเล็บควรหยุดพฤติกรรมดังกล่าวทันทีเนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่ไปหยิบจับสิ่งต่างๆมากมายจึงเป็นแหล่งสะสม ของเชื้อโรคนานาชนิดหากเอามือมาสัมผัสตาขมูกปากเชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเราจึงต้องระมัดระวัง

๏ อย่าลืมล้างมือทุกครั้งให้สะอาดการหมั่นล้างมือบ่อยๆเพื่อเป็นการเสริมสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยห่างไกลจากเชื้อโรคต่างๆ


1.2 คุณลักษณะพิเศษของภัยพิบัติ 1.) ภัยหลักก่อให้เกิดภัยอื่นที่ตามมา (Compound Hazard) นั่นคือเวลาที่ภัยเกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะก่อให้เกิดภัยประเภทอื่นตามมาซึ่งในบางครั้งภัยที่เกิดตามมานั้นรุนแรงยิ่งกว่าหรือในบางครั้งภัยที่ตามมานั้นจะต้องใช้วิธีการในการจัดการที่ตรงข้ามกับภัยแรกเช่นการเกิดแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิตามมาดังที่เราทราบว่าในการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลที่ใกล้กับแผ่นดินนั้นสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนได้เมื่อเราอพยพคนออกมาได้ปลอดภัยอยู่นอกอาคารหากมีสึนามิเกิดขึ้นต้องหาทางอพยพคนออกจากที่โล่งบริเวณใกล้ชายหาดกลับขึ้นที่สูงและผลจากสึนามิอาจทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้หากไม่มีการจัดการที่ดีจะเห็นได้ว่าความเข้าใจในลักษณะพิเศษข้อนี้ของท้องถิ่นจะช่วยให้สามารถรับมือกับการขยายตัวของภัยด้วยตัวภัยเดิมและการเกิดขึ้นของภัยต่อเนื่องอีกด้วย

2.) ภัยพิบัติสามารถเพิ่มความรุนแรงได้หากระดับของความอ่อนไหวของชุมชนมีสูง (Level of Community Vulnerability) นั่นคือหน่วยงานท้องถิ่นต้องมีความเข้าใจในมิติทางกายภาพและมิติทางสังคมของพื้นที่และชุมชนเพราะหากพื้นที่มีความเสี่ยงต่อภัยสูงการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆในการป้องกันและเตรียมรับมือจะต้องมีรายละเอียดเชิงโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องและมิติทางด้านสังคมคือจำนวนกลุ่มคนที่ถือว่าอ่อนไหวต่อภัยอันได้แก่เด็กสตรีและคนชราอันจะทำให้แผนในการอพยพหรือการจัดปัจจัยในการจัดการที่หลบภัยและการฟื้นฟูแตกต่างกันออกไป

3.) ภัยพิบัติสามารถขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆในวงกว้างและเป็นพื้นที่ที่ข้ามเขตการปกครองของหน่วยงาน (Cross Juridiction) ดังนั้นในการวางแผนหรือกำหนดมาตรการในการจัดการภัยพิบัตินั้นต้องทำร่วมกับหน่วยงานหลักของพื้นที่ข้างเคียงเสมอทั้งในกรณีของการขยายตัวของภัยและกรณีที่ต้องการกำลังเสริมจากพื้นที่ข้างเคียง

4.) ภัยพิบัติไม่มีความแน่น่อน (Uncertainty) กล่าวคือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากภัยต่างๆนั้นอาจมีรูปแบบที่ไม่ซ้ำเดิมอาจมีความรุนแรงที่มากขึ้นและมีความถี่สูงขึ้นและอาจเกิดขึ้นในเงื่อนไขเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นพายุนอกฤดูหรือการเกิดแผ่นดินไหวกลางดึกหรือการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในระดับที่รุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนคุณลักษณะข้อนี้จะส่งผลให้หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องปรับปรุงมาตรการรับมือตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัยต่อองค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงและเพื่อให้ทันต่อความผันผวนของสถานการณ์

5.) ภัยพิบัติจะก่อให้เกิดความโกลาหล (Chaos)

เพราะในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติอย่างเช่นในภัยพิบัตินั้นจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับความเสียหายมากมายหลายกลุ่มประกอบกับผู้ที่เข้าจัดการให้ความช่วยเหลือก็จะมากหน้าหลายตาเช่นเดียวกันดังนั้นความซับซ้อนและสับสนในการปฏิบัติการจะสูงทั้งในด้านกายภาพที่ผิดปรกติจนอาจไม่สามารถระบบตำแหน่งแห่งที่ได้มีอุปสรรคทางด้านพื้นที่เช่นสะพานขาดดินถล่มน้ำท่วมทางสัญจรและยังมีจำนวนหน่วยงานทรัพยากรของบริจาคและเจ้าหน้าที่จำนวนมากอันสามารถก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ในที่สุด

1.3 กระบวนการจัดการภัยพิบัติ

1. )การดำเนินการก่อนเกิดภัยเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัย (mitigation and preparedness)

การให้ความรู้เรื่องภัยและการปฏิบัติตนด้วยการฝึกอบรมและสื่อชนิดต่างๆการวิเคราะห์ความเสี่ยงของแต่ละภัยและแต่ละพื้นที่การจัดทำแบบจำลองสถานการณ์การจัดทำแผนที่อพยพการระบุพื้นที่ปลอดภัยและการจัดทำแผนการจัดการหลบภัยการฝึกซ้อมรูปแบบต่างๆในการอพยพการเตือนภัยและการอพยพก่อนการเกิดภัย ในการจัดการภัยพิบัตินั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเอาใจใส่ขั้นตอนก่อนเกิดภัยให้มากที่สุดด้วยเหตุว่าหากความสามารถและศักยภาพของท้องถิ่นในการรับมือมีสูงผลกระทบจะสามารถลดลงได้อย่างเห็นได้ชัดเช่นดังที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันพยายามให้ความรู้และเตรียมพร้อมในเรื่องสึนามิและพายุก็จะส่งผลให้การปลูกสร้างอาคารและการสังเกตภัยช่วยให้ความเสียหายและความสูญเสียลดลงได้ซึ่งเครื่องมือในการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติมีดังนี้

๏ การให้ความรู้เรื่องภัยและการปฏิบัติตนด้วยการฝึกอบรมและสื่อชนิดต่างๆองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเรื่องความรู้และฝึกอบรมทักษะเรื่องภัยพิบัติ

๏ การวิเคราะห์ความเสี่ยงของแต่ละภัยและแต่ละพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์และประมินความเสี่ยงของพื้นที่ของตนเองต่อภัยประเภทต่างๆเพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนและควบคุมบัญชาการสถานการณ์ในพื้นที่

๏ การจัดทำแบบจำลองสถานการณ์การจัดทำแผนที่อพยพสืบเนื่องจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงข้างต้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีข้อมูลของความเสี่ยงต่อภัยแต่ละประเภทตามลำดับความสำคัญและรุนแรงทั้งนี้มาตรการที่นำออกใช้ก็เพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้นๆหากแต่ว่าต้องนำมาวางแผนดำเนินการต่อซึ่งเครื่องมือที่สำคัญคือการทำแบบจำลองสถานการณ์และการทำแผนอพยพด้วยเหตุว่าถึงแม้จะมีมาตรการในการจัดการกับความเสี่ยงให้ส่งผลกระทบให้น้อยลงก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ที่รุนแรงจะไม่เกิดขึ้นดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะดำเนินการดังนี้

๏ การฝึกซ้อมรูปแบบต่างๆในการอพยพการจัดการภัยพิบัติมีความพิเศษกว่าการจัดการสาธารณะในรูปแบบอื่นตรงที่สามารถมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและใช้เป็นฐานในการสร้างแบบจำลองสถานการณ์แล้วนำมาทำการฝึกซ้อมก่อนล่วงหน้าซึ่งจะช่วยทำให้การจัดการด้านนี้นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อควรระวังของการฝึกซ้อมคือเมื่อใดก็ตามที่การฝึกซ้อมตามแบบจำลองสถานการณ์นั้นมีการนำเอาภาคสาธารณะคือประชาชนเข้ามีส่วนในการฝึกซ้อมไม่ว่าจะเป็นการซ้อมประเภทใดต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเป็นระยะเวลาหนึ่งเสมอเพราะอันตรายที่จะเกิดจากความไม่รู้ว่ามีการซ้อมสถานการณ์นั้นมากเกิน กว่าที่หน่วยงานใดจะรับผิดชอบได้เช่นการเกิดอุบัติเหตุจากความตระหนกสตรีคลอดก่อนกำหนดหรือการที่ผู้สูงอายุในท้องที่อื่นเห็นหรือรับฟังข่าวแล้วไม่ทราบว่าคือการซ้อมอาจจะช็อกได้เพราะเป็นห่วงญาติในพื้นที่ที่มีการซ้อมส่วนข้อควรจำของการฝึกซ้อมคือการฝึกซ้อมนั้นเพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องความเสี่ยงต่อภัยในพื้นที่ตลอดจนการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามสถานการณ์รวมทั้งการสร้างความคุ้นเคยในการอพยพหลบภัยเพราะในภาวะที่ตระหนกและคับขันนั้นประชาชนมักจะสับสนและไม่มีสติความคุ้นเคยในการฝึกซ้อมจะช่วยให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้เป็นระบบมากขึ้นการฝึกซ้อมมีหลายรูปแบบตัวอย่าง

๏ การเตือนภัยอย่างเป็นระบบการเตือนภัยอย่างเป็นระบบ

๏ การอพยพก่อนการเกิดภัยในการอพยพนั้นมีทั้ง 1) การอพยพหนีภัยแบบทันทีและ 2) การ อพยพหนีภัยแบบที่มีเวลาเตือนล่วงหน้าซึ่งการหนีภัยทั้งสองแบบแตกต่างกันไปตามภัยที่เกิดเพราะภัยบางประเภทเช่นแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นในทันทีไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้อย่างที่สามารถมีเวลาในการอพยพเหมือนดังเช่นสึนามิพายุต่างๆซึ่งจะทำให้การดำเนินการอพยพแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นกับทิศทางการอพยพที่มีความสัมพันธ์กับประเภทของภัยพิบัติด้วยเช่น

- ในกรณีไฟไหม้เรามักใช้การอพยพในแนวนอนคือพยายามให้ประชาชนออกจากพื้นที่ในแนวราบ

-ในกรณีสึนามิจะใช้การอพยพในแนวดิ่งคือให้ประชาชนเคลื่อนที่ขึ้นที่สูง

- ในกรณีแผ่นดินไหวหากอาคารมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถใช้การอพยพแบบอยู่กับที่คือไม่ต้องออกจากพื้นที่แต่ต้องระวังหาที่กำบังไม่ให้สิ่งของตกมาทับข้อควรพิจารณาในการอพยพ

2.) การดำเนินการระหว่างเกิดภัย (Disaster and EmergencyResponse) เป็นการดำเนินการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆโดยระดมทรัพยากรที่มีอยู่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยเครื่องมือ : การระบุหน่วยงานหลักและหน่วยประสานงานการใช้ระบบการบัญชาการการอยพยพระหว่างสถานการณ์การติดต่อสื่อสารด้วยช่องทางต่างๆการเคลื่อนย้ายทรัพยากรการจัดการจราจรการจัดทีมการให้ความช่วยเหลือและการจัดการในพื้นที่หลบภัย เป็นการดำเนินการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆโดยระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในด้านกำลังคนและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในภาวะไม่ปรกติในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งในขั้นตอนนี้นั้นถือได้ว่าเป็นการจัดการภาวะฉุกเฉินและเป็นการจัดการที่มีความยากลำบากมากเพราะต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพในการเข้าให้ความช่วยเหลือกู้ชีพในสภาวะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจนบางครั้งถึงกับไม่เหลือเค้าโครงเดิมที่เคบพบเห็นมาอีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเองก็ต้องคำนึงถีงความปลอดภัยของทีมงานของตนและตัวเองเช่นเดียวกันเพราะหากเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้ความช่วยเหลือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ผู้ที่รอรับความช่วยเหลือก็จะได้รับอันตรายเช่นเดียวกันดังนั้นเครื่องมือที่ช่วยให้การดำเนินการระหว่างเกิดภัยที่มีความคับขันของภายภาพเวลาและเงื่อนไขความเป็นตายของผู้ประสบภัยเป็นเดิมพันมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีดังนี้

๏ การทำความเข้าใจต่อนโยบายและแผนปฏิบัติการต่างๆ

๏ การใช้ระบบการบัญชาการ

๏ การระบุหน่วยงานหลักและหน่วยประสานงาน

๏ การประเมินสถานการณ์และการเข้ากู้ภัย

๏ การอพยพระหว่างสถานการณ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรที่จะตระหนักถึงประชาชนที่อาจจะไม่ได้รับคำเตือนอพยพล่วงหน้าหรืออาจจะไม่ยอมอพยพในช่วงแรกๆทำให้หน่วยงานต้องทำการอพยพเพิ่มเติมในระหว่างที่ภัยพิบัติกำลังเกิดขึ้นอยู่หรือแม้แต่การอพยพในแบบทันทีเพราะภัยที่เกิดขึ้นเป็นแบบที่ไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้การอพยพในระหว่างสถานการณ์นั้นมีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่งเพราสถานการณ์ไม่คงที่และอาจเกิดความเสียหายทางกายภาพอย่างมากและส่งผลต่อเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการอพยพแต่เนื่องจากหน่วยท้องถิ่นนั้นมีความชำนาญการและคุ้นเคยต่อตำแหน่งของประชาชนและที่หลบภัยมากกว่าการเข้าปฏิบัติการโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจึงน่าจะได้ประสิทธิผลที่สูงกว่าดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ควรที่จะมีกำลังคนที่มีความรู้ความชำนาญและมีอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือในการอพยพที่ครบครัน

๏ การติดต่อสื่อสารด้วยช่องทางต่างๆภายใต้ความซับซ้อนของสถานการณ์และความฉุกเฉินของการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างก็พยายามที่จะใช้ช่องทางการสื่อสารด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันแต่ความต้องการในการใช้ช่องทางการสื่อสารที่มากขึ้นกว่าเดิมในห้วงเวลาอันจำกัดนั้นจะส่งผลให้ช่องทางการสื่อสารหลักล้มเหลวในทันทีอย่างเช่นในเหตุการณ์สึนามิโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้ได้วิทยุสื่อสาร VHF ก็มีผู้เข้าใช้จำนวนมากจนยุ่งเหยิงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเตรียมอุปกรณ์ในการสื่อสารหลักและสำรองให้กับเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วนมีการตรวจตราเครื่องมือเหล่านี้ให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอๆเพราะในการปฏิบัติงานด้านภัยพิบัตินั้นต้องการการประสานงานที่รวดเร็วมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทั่วถึงและไม่มีการขาดหายอีกทั้งการทำงานกับภัยพิบัตินั้นมีตัวแปรเรื่องพื้นที่ทางกายภาพอยู่ตลอดเวลาการสื่อสารเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อทำให้การแยกกันทำงานในแต่ละพื้นที่สามารถประสานงานและช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างดี

๏ การจัดการจราจรและการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในภัยพิบัติการวางแผนการจราจรทั้งในเส้นทางหลักเส้นทางรองพาหนะหลักและพาหนะสำรองเป็นกระบวนการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเพราะในเวลาดำเนินงานนั้นทรัพยากรจะต้องมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลารวมทั้งการสร้างระบบการรับส่งผู้ป่วยจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเรียนรู้การส่งต่อผู้ป่วยว่ามีกระบวนการหรือมีข้อมูลหลักใดที่ต้องนำส่งไปด้วยการจัดส่งของบริจาคหรือถุงยังชีพที่ไม่สามารถจัดส่งได้โดยเส้นทางปรกตินั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องวางระบบการรับส่งทางอากาศหรือการตั้งจุดช่วยเหลือเคลื่อนที่ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและแจกจ่ายอย่างทั่วถึง

๏ การทำงานกับสื่อศาสตร์ด้านการจัดการภัยพิบัติไม่ได้ให้แนวทางแต่เฉพาะว่าสื่อต้องการอะไรระหว่างการเกิดสถานการณ์หากแต่ยังแนะนำการเล่นบทบาทของนักการเมืองท้องถิ่นและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นในการจัดการสื่อไว้ด้วย

๏ การจัดการในพื้นที่หลบภัย

๏ การติดตามประเมินความเสียหาย

๏ การฟื้นฟูบูรณะทางกายภาพและจิตใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าสำรวจพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการทำความสะอาดและประเมินความปลอดภัยในการกลับเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่และดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์วัสดุในการซ่อมแซมให้กับประชาชนในกรณีที่ความเสียหายไม่มากจนเกินไปนักหรือถ้าในกรณีความเสียหายมีสูงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นผู้ประสานในการขอความช่วยเหลือการได้รับการชดเชยช่วยเหลือหรือแม้แต่กระทั่งการบูรณะใหม่ทั้งหมดเช่นการสร้างบ้านน็อคดาวน์หรือการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานของทหารช่างและทหารพัฒนาในการสร้างบ้านที่มีความปลอดภัยและสามารถต้านทานภัยได้ในระดับที่สูงขึ้นช่วยให้ประชาชนอยู่กับสถานการณ์เหล่านี้ได้ในส่วนของการฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนและเจ้าหน้าที่นั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ทั้งในฐานะตัวกลางประสานงานให้นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเข้าพูดคุยและเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งนี้ด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะรู้ข้อมูลของผู้ประสบภัยรู้ภาวะทางด้านจิตใจของชุมชนและจะเป็นผู้ที่ผู้ประสบภัยไว้วางใจที่จะพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่พามาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองจะทำหน้าที่ในการพูดคุยและเยียวยาผู้ประสบภัยเองก็ย่อมทำได้หรือแม้แต่การให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยสามารถเริ่มจากการไต่ถามสำรวจข้อมูลความต้องการของประชาชนในชุมชนในการดำเนินการฟื้นฟู

๏ การระบุร่องรอยภัยพิบัติงานการระบุร่องรอยภัยพิบัตินี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้จากบทเรียนของการเกิดขึ้นของภัยพิบัติว่าส่งผลกระทบในระดับใดมีรูปแบบอย่างไรสร้างความเสียหายในด้านใดและขนาดไหนการระบุร่อบรอยของภัยพิบัติมีประโยชน์มากต่อการจัดทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและวางมาตรการในการจัดการในครั้งต่อไปทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่รู้จักพื้นที่มากที่สุดและต้องเป็นผู้ที่ออกสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินความเสียหายในเบื้องต้นอยู่แล้วซึ่งการระบุร่องรอยเป็นงานที่ต้องดำเนินการภายหลังจากการเกิดภัยอย่างรวดเร็วเพราะหากทิ้งเวลาเนิ่นนานไปเมื่อประชาชนกลับเข้าสู่พื้นที่และเริ่มดำเนินชีวิตแบบปรกติร่องรอยของภัยพิบัติจะถูกรบกวนและลบเลือนไปจากกิจกรรมของชุมชนการได้มาซึ่งข้อมูลร่องรอยนี้จะช่วยให้ท้องถิ่นมีความเข้าใจในภัยที่ต้องเผชิญได้ดีมากขึ้นและสามารถดำเนินการประเมินความเสี่ยงที่ต่อเนื่องไปต่อไป

๏ การจัดการเรื่องของบริจาคภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปเราจะพบปัญหาหลักประการหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอนั่นคือปัญหาการจัดการกับสิ่งของและเงินบริจาคโดยปัญหามีทั้งในมิติของความโปร่งใสในการจัดการแจกจ่ายของและเงินบริจาคและมิติของความวุ่นวายไม่เป็นระบบของการแจกจ่ายจนของบริจาคบางส่วนเน่าเสียและกองรวมกันอยู่อย่างไม่มีใครใส่ใจในการดำเนินการจัดการกับสิ่งของและเงินบริจาคตรงลงมายังท้องถิ่นนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้แทนในระดับพื้นที่เช่นผู้ใหญ่บ้านจะต้องมีบทบาทในการประสานการแจกจ่ายด้วยการที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆต้องทำหน้าที่เสมือนจุดศูนย์กลางของการจัดเก็บและแจกจ่ายผ่านไปยังผู้แทนพื้นที่ในการกระจายสู่ครัวเรือนต่อไปหากเป็นกังวลในประเด็นของความเสมอภาคและทั่วถึงให้จัดกำลังอาสาสมัครร่วมไปกับการแจกจ่ายเพื่อช่วยให้มีการตรวจสอบไปในตัว

๏ การสร้างชุมชนสามารถฟื้นคืนจากภัย เป้าหมายสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่คือการสร้างให้ชุมชนมีความรู้ความสามารถความเข้าใจพร้อมรับมือภัยพิบัติและจัดการตนเองให้ฟื้นคืนจากผลกระทบของภัยได้อย่างรวดเร็วทั้งนี้ต้องอาศัยเครื่องมือที่กล่าวมาในทุกขั้นตอนและหลักการพัฒนาขีดความสามารถที่นำเสนอในส่วนถัดไป ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่: คู่มือการจัดการภัยพิบัติท้องถิ่นที่มา : http://www.flood.rmutt.ac.th/?wpfb_dl=180

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[แก้ไข]

2.1 ความหมายของการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมายถึง การดำเนินงานต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซม การใช้อย่างประหยัดและการสงวนรักษาเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์ได้ใช้ตลอดไป อย่างไม่ขาดแคลน หรือมีปัญหาใดๆหรืออาจจะหมายถึง กระบวนการจัดการแผนงาน หรือกิจกรรมในการจัดสรร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองความต้องการในระดับต่างๆของมนุษย์ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยยึดหลักการอนุรักษ์ ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดประหยัด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้


2.2 แนวความคิดในการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแนวความคิดหลักในการดำเนินงานดังนี้คือ

1.) มุ่งหวังให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประกอบกันอยู่ในระบบธรรมชาติมีศักยภาพ ที่สามารถให้ผลิตผลได้อย่างยั่งยืน ถาวร และมั่นคง คือมุ่งหวังให้เกิดความเพิ่มพูนภายในระบบ ที่จะนำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

2.) ต้องมีการจัดองค์ประกอบภายในระบบธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศให้มี ชนิด ปริมาณและสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแต่ละชนิดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติเพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลของธรรมชาติ

3.) ต้องยึดหลักการของอนุรักษ์วิทยาเป็นพื้นฐานโดยจะต้องมีการรักษา สงวน ปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในทุกสภาพ ทั้งในสภาพที่ดีตามธรรมชาติ ในสภาพที่กำลังมีการใช้และในสภาพที่ทรุดโทรมร่อยหรอ

4.) กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการควบคุม และกำจัดของเสียมิให้เกิดขึ้นภายในระบบธรรมชาติรวมไปถึงการนำของเสียนั้นๆกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

5.) ต้องกำหนดแนวทางในการจัดการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละสถานที่และแต่ละสถานการณ์

จากแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้น มีหลายชนิด และแต่ละชนิด ก็มีคุณสมบัติ และเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวดังนั้น เพื่อให้การจัดการสามารถบรรลุเป้าหมายของแนวคิด จึงควรกำหนดหลักการจัดการหรือแนวทางการจัดการให้สอดคล้องกับชนิดคุณสมบัติ และเอกลักษณ์เฉพาะอย่างของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ดังนี้

ทรัพยากรหมุนเวียน หรือทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น

เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างมากมาย อาทิเช่น แสงอาทิตย์ อากาศ และน้ำในวัฏจักรทรัพยากรประเภทนี้ มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นถ้าขาดแคลน หรือมีสิ่งเจือปน ทั้งที่เป็นพิษ และไม่เป็นพิษก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และศักยภาพในการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้น การจัดการจะต้องควบคุมการกระทำที่จะมีผลเสียหรือเกิดสิ่งเจือปนต่อทรัพยากรธรรมชาติ ต้องควบคุม และป้องกันมิให้เกิดปัญหามลพิษจากขบวนการผลิต ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมที่จะมีผลต่อทรัพยากรประเภทนี้ รวมทั้งการให้การศึกษาแก่ประชาชนทั้งผลดี-ผลเสียของการปนเปื้อน วิธีการควบคุม แลป้องกันรวมทั้งต้องมีกฎหมายควบคุมการกระทำที่จะมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ด้วย


ทรัพยากรทดแทนได้

เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้ว สามารถฟื้นคืนสภาพได้ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวซึ่งได้แก่ ป่าไม้ มนุษย์ สัตว์ป่า พืช ดิน และน้ำ ทรัพยากรประเภทนี้มักจะมีมาก และจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆมนุษย์ต้องการใช้ทรัพยากรนี้ตลอดเวลา เพื่อปัจจัยสี่การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้หรือการนำมาใช้ประโยชน์ ควรนำมาใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนเท่านั้นหรืออีกนัยหนึ่งแนวคิดนี้ถือว่า ฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เปรียบเสมือนต้นทุน ที่ ะได้รับผลกำไร หรือดอกเบี้ยรายปี โดยส่วนกำไรหรือดอกเบี้ยนี้ก็คือส่วนที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง

การจัดการจะต้องจัดให้ระบบธรรมชาติมีองค์ประกอบภายในที่มีชนิด และปริมาณที่ได้สัดส่วนกัน การใช้ต้องใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนและต้องควบคุม และป้องกันให้สต๊อกหรือฐานของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ มีศักยภาพ หรือความสามารถในการให้ผลิตผลหรือส่วนเพิ่มพูนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในการใช้ หรือการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และยึดหลักทางการอนุรักษ์วิทยาด้วย


ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วจะหมดไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้ หรือถ้าจะเกิดขึ้นมาทดแทนได้ก็ต้องใช้เวลานานมาก และมักเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจซึ่งได้แก่ น้ำมัน ปิโตรเลียมก๊าซธรรมชาติและสินแร่การจัดการทรัพยากรประเภทนี้จะต้องเน้นการประหยัด และพยายามไม่ให้เกิดการสูญเสีย ต้องใช้ตามความจำเป็นหรือถ้าสามารถใช้วัสดุอื่นแทนได้ ก็ควรนำมาใช้แทนรวมทั้งต้องนำส่วนที่เสียแล้ว กลับมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าต่อไป

2.3 กลยุทธ์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องมีแนวทางและมาตรการต่างๆที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกันไปซึ่งขึ้นกับสถานภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในขณะนั้นแนวทาง และมาตรการดังกล่าว จะมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด หรือมีทุกลักษณะประกอบกัน ดังนี้

• การรักษาและฟื้นฟู เพื่อการปรับปรุงแก้ไขทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ประสบปัญหา หรือถูกทำลายไปแล้ว โดยจะต้องเร่งแก้ไข สงวนรักษามิให้เกิดความเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น และขณะเดียวกัน จะต้องฟื้นฟูสภาพ แวดล้อมที่เสียไปให้กลับฟื้นคืนสภาพ

• การป้องกันโดยการควบคุมการดำเนินงาน และการพัฒนาต่างๆให้มีการป้องกันการทำลายสภาพแวดล้อม หรือให้มีการกำจัดสารมลพิษต่างๆด้วยการวางแผนป้องกันตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ

• การส่งเสริมโดยการให้การศึกษา ความรู้ และความเข้าใจ ต่อประชาชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในระบบทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อมและมีความคิดที่จะร่วมรับผิดชอบในการป้องกัน และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่

2.4 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.4.1 กฎหมาย

เครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่จะมีผลทำให้การจัดการหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จก็คือ กฎหมายทั้งนี้เพราะต้องอาศัยกฎหมาย เพื่อการกำหนดนโยบายการจัดการให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักความสมดุลของธรรมชาติมีความสอดคล้องกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ วิธีการประสานงานขององค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องมือในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบ และข้อกำหนดอย่างชัดเจนด้วยเดิมทีประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพียงฉบับเดียว ที่ครอบคลุมเรื่องการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ พระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ และฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๒๑ แต่พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มิได้มีกลไกที่เป็นระบบ ที่จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและแผนที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ไปสู่ภาคปฏิบัติที่ได้ผลขาดความต่อเนื่องในการติดตามตรวจสอบโครงการ ที่ได้ดำเนินงานไปแล้วขาดอำนาจในการลงโทษ และการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและประเด็นที่สำคัญก็คือไม่มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะต้องรับภาระในการแก้ไข นอกจากนั้นยังไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดทำเครือข่ายการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยให้มีการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐบาลเอกชน และองค์กรเอกชนอย่างมีระบบ รวมทั้งยังไม่ได้มีการกระจายอำนาจออกไปสู่ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นให้เพียงพอด้วย

ปัจจุบันมีการตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นกฎหมาย ที่จะเอื้ออำนวยต่อการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ พระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ได้มีผลทำให้เกิดมาตรการการดำเนินงานต่างๆ อาทิเช่น การปรับองค์กรให้มีเอกภาพ ทั้งในการกำหนดนโยบาย และแผนการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมการควบคุมมลพิษ การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมออกสู่จังหวัด และท้องถิ่น การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดการพิจารณา และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งก่อนและหลังโครงการพัฒนา การกำหนดสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมายของประชาชนและเอกชน ที่จะมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การนำมาตรการด้านการเงินการคลังมาใช้เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้เป็นแรงจูงใจ และมาตรการบังคับให้ส่วนราชการท้องถิ่น องค์กรเอกชน และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการ "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้องมีหน้าที่เสียค่าใช้จ่าย" การกำหนดหรือจำแนกพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเร่งด่วน เพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์และควบคุมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำหนดความรับผิดชอบทางแพ่ง การต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนกรณีทำให้เกิดการแพร่กระจายมลพิษ และการเพิ่มบทลงโทษในการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นด้วยทั้งในรูปของการปรับและการระวางโทษจำคุกเป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆซึ่งมีบทบัญญัติบางมาตรา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับ อาทิเช่น พระราชบัญญัติโรงงาน ๒๕๓๕พระราชบัญญัติสาธารณสุข ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ๒๕๓๕พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๓ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นต้น รวมทั้งยังมีประกาศกระทรวง กฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง กับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความตามมาตราในพระราชบัญญัติต่างๆ

2.4.2 องค์กรเพื่อการบริหารงานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จากการที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ขึ้นใหม่ได้มีผลทำให้มีการปรับอำนาจหน้าที่ และองค์ประกอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้นใหม่โดยมีลักษณะเป็นคณะรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทน จากภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยมีปลัด กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งจะมีผลทำให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังได้มีการ ปรับปรุงและจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมขึ้น ภายใต้ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ๓ หน่วยงาน คือ สำนักงานนโยบายและ แผนสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมมลพิษ และกรม ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

• สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม: มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการจัดทำนโยบาย และแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านต่างๆของประเทศ การจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประสานการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม ในระดับจังหวัดการประสานการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การเสนอแนะแนวนโยบาย แนวทาง และการประสานการบริหาร งานการจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการ ติดตามตรวจสอบและการจัดทำรายงานสถานการณ์ คุณภาพสิ่งแวดล้อมการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่ง แวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมหรือโครงการของภาครัฐ หรือเอกชน การประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนภูมิภาคและการกำหนดท่าที แนวทาง และประสานความร่วมมือรวมทั้งการ เข้าร่วมในพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่าง ประเทศ

• กรมควบคุมมลพิษ : มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการจัดทำนโยบาย และแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้านการควบคุมมลพิษการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานควบคุมมลพิษ จากแหล่งกำเนิดการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ การพัฒนาระบบ รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการคุณภาพน้ำ อากาศระดับเสียง สารอันตราย และกากของเสียรวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องราวร้อง ทุกข์ด้านมลพิษ

• กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม: มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในด้านการส่งเสริมเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมการจัดทำระบบข้อมูลข้อสนเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการให้ความรู้ ด้านสิ่งแวดล้อม แก่หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน นอกจากนี้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในระดับภูมิภาครวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยโดยในปัจจุบันมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภูมิภาคอยู่ ๔ สำนักงาน คือสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก

2.4.3 กองทุนสิ่งแวดล้อม

กลไกพื้นฐานประการหนึ่งที่จะทำนโยบายและแผน ไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรมก็คือการให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ดังนั้นในปัจจุบันจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งกองทุน คือการให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการกู้ยืม และ/หรือร่วมลงทุนสำหรับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างและดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียรวม หรือระบบกำจัดของเสียรวม ของทางราชการในระดับท้องถิ่น หรือส่วนราชการอื่น ที่เกี่ยวข้อง ที่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน การบริหารกองทุนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่ง แวดล้อม เป็นประธานฯ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กองทุนสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๕ โดยรัฐได้จัดสรรเงินงบประมาณให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเบื้องต้น ๕๐๐ ล้านบาทเงินสมทบจากองทุนน้ำมัน ๔,๕๐๐ ล้านบาทและต่อมาในปี ๒๕๓๖ และ ๒๕๓๗ ได้รับการจัดสรรเงินจากเงินงบประมาณแผ่นดินอีกปีละ๕๐๐ ล้านบาท


2.4.4 การวางแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ประเทศไทยได้เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ แต่การวางแผนพัฒนาในระยะแรกๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ (๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ (๒๕๑๕ - ๒๕๑๙)ได้เน้นการระดมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยขาดการวางแผนการจัดการที่เหมาะสม ขาดการคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนในช่วงของปลายแผนพัฒนาฯฉบับที่ ๓ ได้ปรากฏให้เห็นชัดถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรหลักของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ ดินแหล่งน้ำ และแร่ธาตุ รวมทั้งได้เริ่มมีการแพร่กระจายของมลพิษ ทั้งมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ เสียง กากของเสีย และสารอันตรายดังนั้น ประเทศไทยจึงได้เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมา ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่๔ เป็นต้นมา

• แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๐ -๒๕๒๔): กำหนดแนวทางการฟื้นฟูบูรณะ ทรัพยากรที่ถูกทำลาย และมีสภาพเสื่อมโทรมการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างๆไว้ในแผนพัฒนาด้านต่างๆและได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังขึ้นโดยได้มีการจัดทำนโยบายและมาตรการการ พัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ๒๕๒๔ ขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘

• แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ (๒๕๒๕ -๒๕๒๙) : กำหนดแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการนำนโยบายและมาตรการการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ได้จัดทำขึ้นมาเป็นกรอบในการกำหนดแนวทางมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดให้โครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมีการจัดทำแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ เช่นการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาการจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกการวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาภาคใต้ตอนบน

• แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ (๒๕๓๐ -๒๕๓๔): ได้มีการปรับทิศทาง และแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใหม่โดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท ซึ่งได้แก่ ทรัพยากรที่ดินทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรแหล่งน้ำ ทรัพยากรประมง และทรัพยากรธรณีและการจัดการมลพิษ มาไว้ในแผนเดียวกัน ภายใต้ชื่อแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับปรุงการบริหารและการจัดการให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็น ระบบและสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้มีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ และที่สำคัญคือเน้นการส่งเสริมให้ประชาชน องค์กร และหน่วยงานในระดับท้องถิ่นมีการวางแผนการจัดการ และการกำหนดแผนปฏิบัติการในพื้นที่ร่วมกับส่วนกลางอย่างมีระบบโดยเฉพาะการกำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับ จังหวัดทั่วประเทศ

• แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ (๒๕๓๕ -๒๕๓๙) : การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยการสนับสนุนองค์กรเอกชน ประชาชน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาท ในการกำหนดนโยบาย และแผนการจัดการการเร่งรัดการดำเนินงาน ตามแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วการจัดตั้งระบบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นระบบเดียวกันเพื่อใช้ในการวางแผน การนำมาตรการด้านการเงินการคลัง มาช่วยในการจัดการและการเร่งรัดการออกกฎหมาย เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

2.4.5 การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาด้านต่างๆจะต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดผลิตผลตามความต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีของเสียเป็นสารมลพิษเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นธรรมชาติมีขีดความสามารถในการรองรับของเสียได้เพียงบางส่วนและประกอบกับเราก็ไม่สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดหรือแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษให้หมดสิ้นไปได้ทั้งหมดด้วยดังนั้นการควบคุมภาวะมลพิษของประเทศไทยจึงใช้วิธีการกำหนดมาตรฐานเป็นสำคัญ การ กำหนดมาตรฐานนี้เป็นมาตรการโดยตรงที่สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ และเป็นเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการจัดการควบคุมปัญหา ภาวะมลพิษเพื่อให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศและระดับความต้องการ ของคุณภาพชีวิต รวมทั้งยังเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้สามารถกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง เพื่อการพัฒนาและป้องกันการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ให้สามารถดำเนินการได้อย่างหมาะ

การกำหนดมาตรฐาน โดยทั่วไปจะทำได้สองลักษณะคือ การกำหนดมาตรฐานจากแหล่งกำเนิด หรือมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Standard) และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Ambient Standard)

• มาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Standard) เป็นมาตรฐานมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไป มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว อาทิเช่น มาตรฐานคุณภาพน้ำ ในแหล่งน้ำผิวดินที่ไม่ใช่ทะเล มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาล ที่จะใช้บริโภค มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มและมาตรฐานคุณภาพอากาศ ในบรรยากาศ เป็นต้น

• มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Ambient Standard) เป็นมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด หรือกิจกรรมต่างๆมาตรฐานที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว อาทิเช่น มาตรฐานคุณภาพอากาศเสียที่ระบายออกจากท่อไอเสียของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือกลมาตรฐานคุณภาพอากาศเสีย ที่ระบายออกจากโรงงาน มาตรฐานระดับเสียงของรถยนต์รถจักรยานยนต์ และเรือกล และมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภท และบางขนาด เป็นต้น มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเหล่านี้ เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เมื่อมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด เสมอภาคกันและต่อเนื่อง รวมทั้งจะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโครงการ หรือนักลงทุน ผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญด้วย


นอกจากนี้เพื่อให้การใช้มาตรฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการสนับสนุนการกระจายอำนาจ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ๒๕๓๕ยังได้มีการกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตควบคุมมลพิษซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมวิกฤต มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดให้สูงกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดไว้แล้วได้

2.4.6 มาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมปัจจุบันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานแก้ไข ทั้งในภาครัฐบาล ผู้ประกอบการและ ประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้น แนวทางการจัดการ หรือแนวทางการอนุรักษ์จึงต้องเข้าไป แทรกแซงอยู่ในพฤติกรรมของผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวโดยการสร้างแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจขึ้นซึ่งวิธีนี้จะทำให้การอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพราะจะเป็นการให้ความเป็นธรรม ในการกระจายต้นทุน และผลประโยชน์ในการอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการต่างๆซึ่งได้แก่

การกำหนดมาตรการที่จะช่วยให้ราษฎร ในระดับท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้นโดยการนำรายได้จากการบริหาร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาจัดสรรและนำกลับไปพัฒนาชุมชน และคุณภาพชีวิตของราษฎรในท้องถิ่นให้ดีขึ้นอาทิเช่น การจัดสรรผลประโยชน์จากการดำเนินงานด้านป่าไม้โดยการเก็บภาษีผลกำไรในธุรกิจป่าไม้ และนำไปใช้ในโครงการพัฒนาชนบทหรือการนำค่าธรรมเนียมการเข้าไปใช้พื้นที่คุ้มครองไปใช้ในการป้องกันรักษาทรัพยากรและการจัดการพื้นที่คุ้มครองในแต่ละแห่งเป็นต้น

การลดอัตราอากรสำหรับเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ ที่ใช้ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเนื่องจากปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษา หรือควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗สิงหาคม ๒๕๒๕ จึงได้กำหนดแนวนโยบายด้านการลดอัตราอากรศุลกากร หลักเกณฑ์เงื่อนไขในการลดอัตราอากรศุลกากร สำหรับเครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานหรือที่รักษาสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยให้เรียกเก็บอัตราอากรเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติหรือเหลือร้อยละ๕ แล้วแต่อย่างไหนจะต่ำกว่า รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน ตลอดจนการอนุมัติรายการเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ที่สมควรได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีอากรด้วย เครื่องจักรวัสดุ และอุปกรณ์ ที่รักษาสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ในข่ายได้รับการลดอัตราอากรจะต้องเป็นชนิดและประเภท ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสียขจัดกากของเสียของขยะ ใช้ลด หรือป้องกันเสียงรบกวนจากต้นกำเนิดในกิจการอุตสาหกรรม อาทิเช่น แผ่นหมุนชีวภาพ อุปกรณ์ในการกำจัด คราบน้ำมันเครื่องบีบตะกอน เครื่องเติมอากาศ อุปกรณ์ครอบเสียง เครื่องดักฝุ่นผ้ากรองฝุ่น หรือถุงกรองฝุ่น สารเคมีที่ช่วยในการจับตะกอน ของอากาศเสียเครื่องกำจัดไอกรด รวมทั้ง วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย วิเคราะห์ตรวจวัด และติดตามผล เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมการริเริ่มลดอัตราอากรศุลกากรของเครื่องจักรวัสดุ และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังกล่าวนี้นับเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับโครงสร้าง ของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะเป็นมาตรการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งจูงใจ และสร้างความกระตือรือร้นให้แก่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

การนำมาตรการการลดหย่อนภาษีรายได้ ตามประมวลรัษฎากรมาใช้ เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้กำหนดให้รายจ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์ สามารถนำมาหักภาษีรายได้ ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ ๒ของกำไสุทธิได้ ซึ่งถือได้ว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสนับสนุนให้การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรายจ่ายเพื่อกิจการสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการต่างๆ

2.4.7 การประชาสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมศึกษา การป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นปัจจุบันสามารถกระทำได้หลายวิธีทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การออกกฎหมายควบคุม และอีกหลายๆ วิธี ดังกล่าวข้างต้นแต่วิธีการที่เป็นที่ยอมรับว่า เป็นมาตรการเสริมที่จะช่วยให้การดำเนินงานแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลในระยะยาวก็คือ การสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในตัวของประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมวิธีการที่จะสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้วิธีหนึ่งก็คือ การให้การศึกษาและการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล ทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนได้รู้ และเข้าใจถึงอันตรายของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเอง และตระหนักถึงคุณค่าและคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

1) การให้การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ

โดยการกำหนดหลักสูตรวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาในลักษณะสอดแทรกในหมวดวิชาการต่างๆ ทั้งในระดับประถม และมัธยมศึกษารวมทั้งอุดมศึกษา ด้วยการมุ่งเน้นในด้านการมีบทบาทและความสำนึกรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุก คนจะต้องร่วมกันและในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยต่างๆก็ได้ดำเนินการผลิตบัณฑิตทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วยส่วนการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมนอกระบบนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ได้จัดให้มีการเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ โดยการใช้สื่อทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ รวมทั้งการจัดให้มีกิจกรรมด้านต่างๆ เช่นการฝึกอบรม การประชุม สัมมนาและการจัดนิทรรศการด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องในวันสำคัญๆ เช่นวันสิ่งแวดล้อมโลก วันสิ่งแวดล้อมไทย สัปดาห์อนามัยสิ่งแวดล้อมสัปดาห์ตาวิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่างๆยังได้มีการสนับสนุน การจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้นเป็นการภายในรวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบต่างๆ ด้วย

2) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารและการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกแก่ประชาชนโดยทั่วไปนั้นมีการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งการสร้างสื่อซึ่งได้แก่ สปอตทีวี สารคดี การผลิตโสตทัศนูปกรณ์ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั้งด้านหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญใน ๒ ประเด็นคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษ

• การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การอบรมผู้นำเยาวชน เพื่อการพิทักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นโครงการอีสานเขียว โครงการวันต้นไม้แห่งชาติเป็นต้น

• การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษ เนื่องจากปัญหามลพิษเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในย่านอุตสาหกรรม และในเมืองหลักเป็นส่วนใหญ่การสร้างจิตสำนึก จึงเน้นกลุ่มเป้าหมาย ที่ผู้ประกอบกิจการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คนงาน และประชาชนในเมืองโดยการรณรงค์จะเป็นการผสมผสานวิธีการในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดการฝึกอบรมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการ และกิจกรรมพิเศษเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วน ร่วม เช่น การประกวดบทความ ภาพวาดสำหรับเยาวชน เรียงความ การแข่งขันตอบ ปัญหาผ่านสื่อมวลชน เป็นต้น เนื่องจากการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนโดยทั่วไปนั้นเป็นความพยายามที่จะปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในทิศทางที่เสริมสร้างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการแก้ไข ป้องกันปัญหาภาวะมลพิษซึ่งมักจะขัดกับพฤติกรรมที่เคยชินของประชาชนในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งยังจำเป็นต้องมีการเสียสละเวลาและผลประโยชน์ ส่วนตนเพื่อส่วนรวมด้วยจึงเป็นการดำเนินงาน ที่ต้องการความละเอียดอ่อน และต้องใช้ระยะเวลารวมทั้งต้องมีการวางแผนที่เหมาะสม เพื่อให้เข้า ถึงประชาชนจึงจะทำให้เกิดผลบรรจุถึงเป้า หมายที่กำหนดไว้

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :

1. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ที่มา:http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=19&chap=1&page=t19-1-infodetail06.html