สาขาการระหว่างประเทศ

จาก คลังข้อมูลด้านรัฐศาสตร์

ความหมายและตัวแสดงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

1.1.นิยามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ได้มีผู้ให้นิยามและความหมายของ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (International Relation) ไว้มากมายต่าง ๆ กัน พอที่จะยกตัวอย่างได้ดังนี้

สแตนลีย์ ฮอฟมานน์ (Stanley Haffmann) ให้คำนิยามว่า “วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุ่งศึกษา ปัจจัย และกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศและอำนาจของหน่วยพื้นฐานต่าง ๆ ในโลก”

แมตธิเสน (Matthiesen) กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเหมือนคำว่า กิจกรรมระหว่างประเทศ และกลุ่มของความสัมพันธ์ทุกชนิดที่ข้ามเขตแดนรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย การเมือง ที่มีลักษณะเป็นส่วนบุคคลหรือเป็นทางการหรืออย่างอื่นใดก็ตาม ตลอดจน พฤติกรรมของมนุษย์ทุกอย่างที่มีต้นกำเนิดอยู่ในพรมแดนข้างหนึ่งของรัฐ โดยมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของพรมแดน”

ศาสตราจารย์ คาร์ล ดับเบิลยู ดอยทช์ (Karl W. Deutsch) กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นคำที่บ่งถึงพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในข้างหนึ่งของเส้นเขตแดนของประเทศ และมีผลสะท้อนต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในอีกข้างหนึ่งของเส้นเขตแดนนั้น”

จากหนังสือ Webster’s third New International Dictionary กล่าวว่า International Relations a branch of political science concerned with relations between political units of national rank and dealing primarily with foreign policies, the organization and function of governmental agencies concerned with foreign policy, and factors as geography and economics underlying foreign policy

จากความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าโดยรวมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็น “การแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนของประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยที่การแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยรัฐหรือตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐและการกระทำดังกล่าวส่งผลถึงความร่วมมือ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลก” ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะพิจารณากิจกรรมดังกล่าวในประเด็นต่อไปนี้

1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง การแลกเปลี่ยน เช่น แลกเปลี่ยนสินค้า เทคโนโลยี บุคลากร บริการ ฯลฯ หรือปฏิสัมพันธ์ คือการประพฤติปฏิบัติต่อกันในลักษณะต่าง ๆ เช่น การโฆษณาโจมตีซึ่งกันและกัน การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ การร่วมมือกันพัฒนา เป็นต้น

2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นข้ามพรมแดนของรัฐ ในแง่นี้เป็นการพิจารณากิจกรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน คือ ในสมัยที่รัฐชาติ (หรือประเทศอธิปไตย) เป็นตัวแสดงสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศละเลยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามกลุ่มสังคมซึ่งมิใช่รัฐอธิปไตย เพียงแต่ความสนใจในกิจกรรมปัจจุบันมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของโลกมากกว่าความสนใจเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน

3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจเป็นเรื่องที่กระทำโดยบุคคล กลุ่มบุคคล รัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือตัวแสดงอื่น ๆ ในเวทีระหว่างประเทศก็ได้ แต่ผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมุ่งความสนใจเฉพาะความสัมพันธ์ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจการของโลกหรือของรัฐต่าง ๆ เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น คนไทยยิงคนลาวตายด้วยสาเหตุส่วนตัว หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจับกุมคนต่างชาติซึ่งลอบค้ายาเสพติด เป็นต้น เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นข้ามขอบเขตพรมแดนรัฐ แต่เนื่องจากตัวอย่างดังกล่าวนี้เป็นเหตุการณ์ซึ่งมิได้ก่อผลกระทบกระเทือนต่อรัฐอื่น ๆ หรือมิได้กระทบกระเทือนกิจการของโลกอย่างมาก จึงมิใช่ประเด็นที่สนใจนัก ในทางตรงกันข้าม หากการกระทำที่เกิดข้ามเขตพรมแดนรัฐมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรือต่อสังคมโลกโดยทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่นักวิชาการให้ความสนใจศึกษา ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการยิงปืนจากสถานทูตลิเบียในกรุงลอนดอนจนทำให้ตำรวจหญิงอังกฤษผู้หนึ่งเสียชีวิตตอนต้นปี ค.ศ.๑๙๘๔ นับเป็นกรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งพึงสนใจ เพราะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (จนถึงกับมีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง๒ ประเทศในระยะเวลาต่อมา) นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่างอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีนักก่อวินาศกรรมเกาหลีเหนือวางระเบิดสังหารเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ในประเทศพม่า เมื่อต้นปี ค.ศ.๑๙๘๔ หรือกรณีกลุ่มชนในอิหร่านจับนักการทูตสหรัฐอเมริกาในอิหร่านเป็นตัวประกัน เป็นต้น

4. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประเด็นความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องที่ผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขในสังคมโลก

ดังนั้น ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นมากมาย และครอบคลุมเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง แต่ในทางปฏิบัติ นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักจะเลือกสนใจเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้ามขอบเขตพรมแดนรัฐซึ่งมีความสำคัญ คือที่กระทบต่อความร่วมมือและความขัดแย้งเป็นหลัก

อ้างอิง http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:WFVsRPvmaPIJ:58.97.114.34:8881/academic/images/stories/1_kwarm_mun_kong/3_politic/1_inter/21311-4.doc+&cd=4&hl=th&ct=clnk&gl=th(หน้า 1-3)

1.2. ตัวแสดงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

1.2.1. ตัวแสดงที่เป็นรัฐ

เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมสลาย ดินแดนในทวีปยุโรปแยกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ที่เป็นอิสระต่อกัน เช่น อิตาลีแบ่งออกเป็นรัฐลอมบาร์ดี โรมานญา ทัสคานี เนเปิล ซีซีลี รัฐสันตะปาปา ฯลฯ เยอรมนีแยกออกเป็นรัฐแซกซอน ฟรังโกเนีย บาวาเรีย ชวาเบน ไมเซน ฯลฯ ฝรั่งเศสแยกออกเป็นรัฐบูร์กอญ กาสกอญ ตูลูส โพรวองส์ ฯลฯ เช่นเดียวกับสเปนและยุโรปตะวันออก เป็นสภาพที่อำนาจการเมืองกระจัดกระจายไม่รวมศูนย์ดังสมัยจักรวรรดิโรมัน

จากนั้นการปกครองค่อยๆ พัฒนาเป็นระบบฟิลดัล (Feudal system) กับศาสนจักรโรมันคาทอลิก

ศาสนจักรโรมันคาทอลิกเป็นองค์กรเดียวที่มีโครงสร้างทางอำนาจเข้มแข็ง บาทหลวงกระจายอยู่ทุกหนแห่ง ทุกแว่นแคว้น เป็นที่พึ่งของประชาชนท่ามกลางสภาวะสงคราม ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ

ในปี ค.ศ.800 เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ หลังจากพระเจ้าชาร์เลอมาญแห่งชนชาติฟรังก์ชนะสงครามสามารถรวมดินแดนฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลีภาคเหนือและยุโรปตะวันตกทั้งหมด กลายเป็นอาณาจักรใหญ่ พระเจ้าชาร์เลอมาญได้ให้สันตะปาปาเลโอที่ 3 สวมมงกุฎจักรพรรดิ เป็นการยอมรับสิทธิอำนาจของประมุขศาสนาเหนือประมุขอาณาจักรฝ่ายโลก

ค.ศ.962 สันตะปาปาโยอันเนสที่ 12 สวมมุงกุฎให้พระเจ้าออตโตที่ 1 และประกาศให้อาณาจักรของพระเจ้าออตโตที่ 1 เป็น “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” อำนาจของศาสนจักรจึงครอบคลุมสูงสุดทั้งทางธรรมกับทางโลก ประมุขคนใดที่ไม่เชื่อฟังหรือไม่ยอมรับอำนาจของสันตะปาปา อาจถูกประกาศบัพพาชนียกรรม (excommunication) ไล่ออกจากการเป็นศาสนิกชน ทำให้ประมุขขาดความน่าเชื่อถือ ขุนนางอาจก่อการยึดอำนาจ

ในระดับรากหญ้า บาทหลวงกระจายอยู่ในทุกเมือง มีอิทธิพลต่อประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีบทบาทด้านการศึกษา กิจกรรทางสังคม โบสถ์และธรณีสงฆ์เป็นอิสระจากอำนาจเจ้าเมือง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี มีข้าพระหรือผู้ใช้แรงงานในบังคับบัญชาของโบสถ์ เมื่อเวลาผ่านไปโบสถ์ร่ำรวย มีอิทธิพลมากขึ้นทุกที

ดังนั้น ในยุคกลาง (ค.ศ.500-1500) ศาสนจักรโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลอำนาจทั้งฝ่ายโลกและทางธรรม บาทหลวงทั้งหมดขึ้นตรงต่อสันตะปาปา กษัตริย์บางองค์เมื่อขึ้นครองราชย์ต้องได้รับการสวมมงกุฎจากสันตะปาปา ในบางแง่อาจตีความว่าเกิดสภาพอำนาจซ้อนอำนาจ


แต่อำนาจของศาสนจักรโรมันคาทอลิกเริ่มเสื่อมด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ มีการซื้อขายใบไถ่บาป เป็นความเชื่อที่ว่าการซื้อใบไถ่บาปจะช่วยให้ผู้ตายได้ขึ้นสวรรค์ บาทหลวงเท่านั้นที่สามารถเป็นคนกลางเชื่อมระหว่างผู้เชื่อกับพระเจ้า ศาสนิกชนบางส่วนต้องการฟื้นฟูศาสนา เมื่อได้ศึกษาพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ (Bible) ก็ยิ่งรู้ว่าหลักข้อเชื่อ แนวประพฤติปฏิบัติหลายอย่างไม่ถูกต้อง ตีความพระคัมภีร์ผิดเพี้ยน การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สมัยใหม่และแปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นอีกเหตุที่ทำให้หลายคนได้อ่านพระคัมภีร์โดยตรง (เดิมนั้นผู้เชื่อจะฟังคำสอนผ่านบาทหลวงเป็นหลัก) พระคริสต์ธรรมคัมภีร์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง (ทุกวันนี้พระคัมภีร์ยังเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มากที่สุดในโลก) บาทหลวงไม่เป็นผู้ผูกขาดตีความอีกต่อไป


ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ เป็นอีกเหตุผลสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักคิดหลายคนค้นพบความรู้และแนวคิดที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนจักร เช่น นักดาราศาสตร์ค้นพบว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างโลกให้เป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ

นักปรัชญาการเมือง นิกโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli, 1469-1527) โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, 1588-1679) สนับสนุนให้เจ้าผู้ปกครองมีอำนาจเหนือทุกฝ่าย รวมทั้งศาสนจักร

ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะวิทยาการที่ขัดแย้งกับหลักศาสนา เป็นอีกเหตุที่สั่นคลอนสิทธิอำนาจของศาสนจักร

ความขัดแย้งอันเนื่องจากความเชื่องทางศาสนา ความต้องการปฏิรูป ได้ขยายตัวและเชื่อมโยงกับอาณาจักรฝ่ายโลก เกิดสงครามระหว่างแว่นแคว้นที่ยังยึดมั่นศาสนาจักรกับฝ่ายต่อต้านหลายครั้ง สงครามครั้งสุดท้ายคือ สงคราม 30 ปี (Thirty Years War, 1618-1648) จบลงด้วยการลงนามสนธิสัญญาเวสฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ในปี 1648 พร้อมกับเกิด “รัฐสมัยใหม่” (modern state) ผู้ครองรัฐต่างๆ สามารถกำหนดนิกายศาสนาด้วยตนเอง ไม่จำต้องขึ้นกับศาสนจักรอีกต่อไป เป็นการยุติอำนาจฝ่ายโลกของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่มีมาตั้งแต่ยุโรปสมัยกลาง

ผู้ปกครองหรือศูนย์กลางอำนาจของรัฐ จึงมี/ใช้อำนาจสูงสุดภายในขอบเขตรัฐหรือดินแดนของอิทธิพลของตน คำว่าอธิปไตย (Sovereignty) ในสมัยนั้นจึงมีความมุ่งหมายสำคัญที่ว่าผู้ปกครองฝ่ายโลกหรือกษัตริย์ได้แยกตัวตนออกจากอำนาจของสันตะปาปา รัฐที่ยึดมั่นหลักการนี้จะไม่มีระบบ 2 ผู้นำ คือ ผู้นำศาสนากับผู้ปกครองฝ่ายโลกที่ทับซ้อนกัน ผู้ปกครองฝ่ายโลกมีอำนาจสูงสุดในขอบเขตอิทธิพลทางการเมืองของตน (หรือขอบเขตประเทศหรือดินแดนของตนนั่นเอง) เว้นแต่บางเมืองบางรัฐที่ยังคงอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนจักรต่ออีกระยะหนึ่ง

ข้อตกลงสันติภาพเวสฟาเลียยังเป็นที่มาของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอีกฝ่าย เขตแดนกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าอดีต เพราะผู้ปกครองแต่ละคนมีอำนาจสูงสุดเหนือดินแดน รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างในดินแดนนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นประชากร ทรัพยากรต่างๆ

อ้างอิงจาก http://www.chanchaivision.com/2014/12/Modern-State-Primary-Actor-141228.html

1.2.2.ตัวแสดงที่มิใช่รัฐ (Non State Actor)

ตัวแสดงที่มิใช่รัฐ (non-state actor) ที่มีบทบาทเด่นในปัจจุบัน

o “องค์การระหว่างประเทศ” เช่น สหประชาชาติ

o บรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations: MNCs)

อำนาจของ MNCs บางครั้ง บางแห่ง มีมากกว่าที่คิด เช่น บรรษัทยาของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ด้วยการบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาลงนามป้องกันสิทธิบัตรยา หรือบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ บีบให้ประเทศต่างหันมาสนับสนุนเปิดประเทศเพื่อการค้าเสรี

ดังนั้น เท่ากับว่า MNCs เหล่านี้ชักใยประเทศสหรัฐฯ ให้มีนโยบายหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อประเทศอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ของ “MNCs”

เท่ากับว่า ในบางแง่มุม MNCs เหล่านี้มีอำนาจมากกว่าประเทศสหรัฐฯ เสียอีก

• กรณีตัวอย่าง บรรษัทน้ำมัน

เจ้าพ่อในวงการน้ำมันมีท่าทีใคร่จะย้อน เวลากลับไปก่อนที่จะมีกระแสคลื่นยึดกิจการน้ำมันมาเป็นของชาติ ในปี ค.ศ.๑๙๗๐ เมื่อบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันโลกอันได้รับขนานนามว่า"เจ็ดศรีพี่น้อง (Seven Sisters) ถูกขับออกจาก ตะวันออกกลางและ ละตินอเมริกา "เจ็ดศรีพี่น้อง" นี้ได้แก่ เอ็กซ์ซอน (Exxon), กัล์ฟ (Gulf), เท็กซาโก้ (Texaco), โมบิล (Mobil), โซคอล (Socal) หรือเชฟรอน (Chevron), บี.พี. (B.P.), และเชลล์ (Shell), ๕ บริษัทแรกเป็นบริษัทใหญ่ของสหรัฐ ฯ ถัดมาก็เป็นบริษัทของจักรภพอังกฤษ สุดท้ายก็ได้แก่แองโกล-ดัทช์ (Anglo - Dutch) "เจ็ดศรีพี่น้อง" นี้แหละครอบงำกิจการน้ำมัน ของโลกที่พวกเราทั้งหลายอยู่ภายใต้การครอบงำ ของน้ำมันด้วยกันทั้งนั้น

การที่ประเทศสหรัฐฯ ที่มีนโยบายเข้มงวดในการรักษาการมีอิทธิพลเหนือดินแดนตะวันออกกลางที่อุดมด้วยน้ำมัน ถ้ามองในแง่ตัวแสดงรัฐคือสหรัฐฯต้องการผลประโยชน์ด้านพลังงานจากตะวันออกลาง และถ้ามองในแง่ตัวแสดงบรรษัทข้ามชาติ การที่รัฐอเมริกันใช้นโยบายและใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อรักษาอิทธิพลเหนือตะวันออกลางก็คือเพื่อให้บรรษัทน้ำมันข้ามชาติสามารถประกอบกิจการต่อไปโดยราบรื่น


Non State Actor ที่เป็นองค์การนอกภาครัฐที่ทำงานไม่แสวงผลกำไร (non-governmental organisations - NGOs) ปัจจุบันส่วนใหญ่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การศึกษาวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และหลายแห่งเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากภาคเอกชน

ในปี 2007 มีเอ็นจีโอในสหรัฐฯ กว่า 2 ล้านองค์กร อินเดียราว 1 ล้านองค์กร ในรัสเซีย 4 แสน

เอ็นจีโอบางแห่งไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชนจริง แต่เป็นเอ็นจีโอของรัฐบาลหรือบริษัทเอกชน เอ็นจีโอที่ส่งเสริมประชาธิปไตยบางแห่งของสหรัฐฯ ถูกบางประเทศมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอเมริกันเพื่อล้มล้างหรือบ่อนทำลายรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น เอ็นจีโอส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีผลต่อนโยบายของรัฐบาล แต่บางเอ็นจีโอมีผลต่อนโยบายของรัฐบาลค่อนข้างมาก เช่น องค์การเฝ้าระวังปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch), องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) and Oxfam กลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) ทำหน้าที่รณรงค์ เรียกร้อง ประท้วงและกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆในเรื่องของสันติภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders)


Non State Actor ที่เป็นกลุ่มแนวคิดหรือองค์กรศาสนา

เช่น Al Qaeda, Hezbollah ซึ่งบางครั้งถูกชาติตะวันตกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (Terrorist) โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์เครื่องบินชนอาคารแฝดเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเรียกว่าเหตุการณ์ 911


1.2.3. ตัวแสดงที่มิใช่รัฐอื่นๆ

เช่น ปัจเจกบุคคล อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ แห่งสหรัฐฯ แสดงบทบาท คือ การรณรงค์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน

ข้อสังเกต คือ อัล กอร์ รณรงค์กับคนส่วนใหญ่ทั่วโลก ไม่เฉพาะกับคนอเมริกัน มีกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นที่โดดเด่นในสื่อกับวิชาวิชาการ สาขาการระหว่างประเทศ อัล กอร์ ไม่ได้ไปในนามของอดีตรองประธานาธิบดี แต่ไปในนามบุคคลธรรมดาที่สนใจรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เหมือนนักเคลื่อนไหว (activist) คนหนึ่ง นายอัล กอร์ ได้สร้างภาพยนตร์สารคดี "An Inconvenient Truth”นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ผลการสำรวจของ “Pew” พบว่า คนส่วนใหญ่จาก 47 ประเทศทั่วโลก เป็นว่า ปัญหามลภาวะ (pollution) และปัญหาสิ่งแวดล้อม (environmental problems) เป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของโลก ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้าย หรืออาวุธนิวเคลียร์

อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงผู้ใช้ทั่วโลก ส่งผลทำให้แต่ละปัจเจกบุคคลมีอิทธิพล ปัจเจกบุคคลสามารถส่งผ่านความคิดความเห็นของเขาแก่ทุกคนที่เข้าไปสัมพันธ์ด้วยผ่านอินเตอร์เน็ต

อ้างอิง : http://www.chanchaivision.com/2012/06/3.html

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอดีต

การศึกษาและทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอดีตอาจพิจารณาแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกเป็นช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ตามลำดับ ได้แก่ ในสมัยโบราณ ในระยะก่อนมหาสงครามโลก ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ และในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้


2.1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยโบราณ

เพื่อความสะดวกในการศึกษาและการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยโบราณ จึงได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ สมัย คือ สมัยดึกดำบรรพ์ สมัยนครรัฐกรีก สมัยจักรวรรดิโรมัน สมัยฟิวดัล และสมัยรัฐปัจจุบัน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

2.1.1. สมัยดึกดำบรรพ์

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มหรือรัฐในสมัยดึกดำบรรพ์ มีลักษณะเป็นการใช้กำลังต่อกันระหว่างรัฐ โดยกลุ่มชนใดมีกำลังและอาวุธมากกว่าก็มักจะบงการให้รัฐอื่นหรือชนเผ่าอื่นตกลงตามข้อเสนอของตน หากรัฐอื่นไม่ยอมตกลงด้วยก็มีการทำสงครามกันขึ้น ส่วนสันติภาพนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจมีได้จากการทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงเท่านั้น ผู้ชนะสงครามย่อมมีสิทธิ์เหนือผู้แพ้ ทั้งในตัวบุคลและทรัพย์สิน

2.1.2. สมัยนครรัฐกรีก

ในสมัยนครรัฐกรีก มีนครรัฐหลายร้อยนครรัฐ ซึ่งต่างก็มีเอกราชไม่ขึ้นต่อกัน และต่างก็ไม่คิดจะรวมเข้าด้วยกันแม้จะมีวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาเดียวกันก็ตาม ดังนั้นบางครั้งจึงมีการรบพุ่งเกิดขึ้นระหว่างรัฐ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าใดนัก โดยมากแล้วมักจะตกลงกันว่าจะไม่รบจนกว่าจะได้ประกาศสงครามให้ทราบล่วงหน้าก่อน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างนครรัฐต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีการแต่งตั้งทูตประจำ แต่ก็มีการส่งคณะทูตไปเยี่ยมเยือนกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อตกลงทางประเพณีว่า ห้ามทำร้ายหรือละเมิดแก่ตัวทูต

ในสมัยนครรัฐกรีก ชาวกรีกจะไม่ชอบคนต่างด้าว ซึ่งหมายถึงคนที่เป็นพลเมืองของนครอื่น ๆ ยกเว้นบุคคลซึ่งทางศาสนาให้มีหน้าที่เอื้อเฟื้อ หรือบุคคลซึ่งชาวกรีกมีหน้าที่ต้องเอื้อเฟื้อตามสนธิสัญญา ทั้งนี้ชาวกรีกมักถือว่าไม่มีพันธกรณีกับคนต่างด้าว และคนต่างด้าวก็ไม่สิทธิอันใด รัฐจะเป็นศูนย์กลางทำการค้าและได้มีการทำสนธิสัญญาตกลงใช้หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันระหว่างนครรัฐในเรื่องความเสมอภาค สิทธิทางแพ่งของคน และวิธีตกลงในกรณีพิพาททางการพาณิชย์

ในสมัยนี้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะป้องกันการรบพุ่งกันระหว่างนครรัฐ โดยมีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น อันเป็นความพยายามในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการทำสัญญากันไว้หลายฉบับ โดยระบุให้มีอนุญาโตตุลาการชี้ขาด หากเกิดกรณีพิพาทขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกรณีพิพาทในทางศาสนา การพาณิชย์ และเรื่องเขตแดนหรือดินแดน


2.1.3. สมัยจักรวรรดิโรมัน

โรมันเป็นนครรัฐหนึ่งเช่นเดียวกับนครรัฐกรีก ซึ่งในเวลาต่อมาโรมันสามารถยึดเอาดินแดนต่าง ๆ ที่เป็นอิตาลีในปัจจุบันมาขึ้นกับตนทั้งหมด ซึ่งทำให้โรมันมีกำลังมากขึ้น จนกระทั่งสามารถแผ่จักรวรรดิออกไปเหนือดินแดนทั้งหมดในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนความสัมพันธ์กับรัฐอื่น ๆ นั้น โรมันปฏิบัติในลักษณะคล้ายกันกับนครรัฐต่าง ๆ ของกรีก เช่น ในเรื่องการทำสงครามและการปฏิบัติต่อคนต่างชาติ แต่โรมันดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ฉลาดกว่ากรีก เพราะชาวโรมันชำนาญในการปกครองและมีความรู้ทางด้านกฎหมายมากกว่าชาวกรีก

กฎหมายโรมันที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมีอยู่ ๒ สาขา คือ Jus Fetiale ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์ในเรื่องการประกาศสงคราม การให้สัตยาบันสันติภาพ และ Jus Gentium ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างโรมันกับคนต่างด้าว รวมทั้งบัญญัติถึงเรื่องทางแพ่ง เช่น สัญญาหุ้นส่วนกู้ยืม และการได้มาซึ่งสิทธิต่าง ๆ เป็นต้น โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ต่อมาได้รวมในกฎหมายแห่งโรมัน ซึ่งกลายเป็นรากฐานของระบบกฎหมายของประเทศยุโรปหลายประเทศ

2.1.4. สมัยกลาง

ระบบฟิวดัลเกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ในอิตาลีประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๖ และในอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ซึ่งตามระบบฟิวดัลนี้ได้มีการตกลงวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างพวกเจ้าขุนมูลนาย (Lords) กับพวก Vassals โดยพวกเจ้าขุนมูลนายจะเป็นหัวหน้าปกครองแคว้นต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าขุนมูลนายเป็นไปโดยไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน แคว้นใดมีกำลังและอำนาจมากก็มักใช้อำนาจตามความพอใจของตน สันติภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

2.1.5. สมัยรัฐปัจจุบัน

รัฐปัจจุบัน (Modern States) เกิดขึ้นได้เพราะการเลิกล้มระบบฟิวดัล การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางศาสนากับฝ่ายบ้านเมือง ชีวิตเศรษฐกิจทางการค้า และการขยายตัวทางการเมือง โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดรัฐปัจจุบันก็คือ สงครามครูเสด การพบเส้นเดินทางการค้าใหม่ การค้นพบดินแดนนอกยุโรป การปฏิวัติในทางการค้า การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิรูปคริสต์ศาสนา ระบอบประชาธิปไตย และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งระบบรัฐได้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (ค.ศ.๑๖๘๔) จากนั้นระบบรัฐปัจจุบันได้แพร่ขยายไปจนทั่วโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในช่วงระยะเวลานี้มีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการติดต่อระหว่างรัฐในทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อำนาจของพวกเจ้าขุนมูลนายลดน้อยลงไป ส่วนพวกนายทุนรุ่นใหม่เกิดมีอำนาจทางการเมืองขึ้น โดยรวมกำลังกับกษัตริย์เพื่อลดอำนาจพวกขุนนาง

2.2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่

2.2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังสมัยกลาง

รัฐปัจจุบัน (Modern States) เกิดขึ้นได้เพราะการเลิกล้มระบบฟิวดัล การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางศาสนากับฝ่ายบ้านเมือง ชีวิตเศรษฐกิจทางการค้า และการขยายตัวทางการเมือง โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดรัฐปัจจุบันก็คือ สงครามครูเสด การพบเส้นเดินทางการค้าใหม่ การค้นพบดินแดนนอกยุโรป การปฏิวัติในทางการค้า การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิรูปคริสต์ศาสนา ระบอบประชาธิปไตย และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งระบบรัฐได้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (ค.ศ.๑๖๘๔) จากนั้นระบบรัฐปัจจุบันได้แพร่ขยายไปจนทั่วโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในช่วงระยะเวลานี้มีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการติดต่อระหว่างรัฐในทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อำนาจของพวกเจ้าขุนมูลนายลดน้อยลงไป ส่วนพวกนายทุนรุ่นใหม่เกิดมีอำนาจทางการเมืองขึ้น โดยรวมกำลังกับกษัตริย์เพื่อลดอำนาจพวกขุนนาง

2.2.2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1

ก่อนมหาสงครามโลกเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีจุดศูนย์กลางอยู่ในยุโรปนับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (ค.ศ.๑๖๘๔) จนถึงการปฏิวัติในฝรั่งเศส (ค.ศ.๑๗๘๙-๑๗๙๙) และสงคราม นโปเลียนในปี ค.ศ.๑๘๑๕ ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ รัฐมหาอำนาจต่างมุ่งที่จะสร้างอาณาจักรและจักรวรรดิของตนขึ้นมา อันเป็นการคุกคามต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่สงครามถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นกัน

2.2.2.1. บทบาทของรัฐ

รัฐที่มีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนมาก ได้แก่ รัฐที่อยู่ในภาคพื้นยุโรป ซึ่งมหาอำนาจในยุโรปจะไม่ให้ความสนใจกับรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ภายนอกยุโรป เพราะรัฐที่อยู่บริเวณภายนอกดินแดนยุโรปไม่มีการพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างเพียงพอจนถึงขนาดที่ทำให้มีกำลังอำนาจโจมตีรัฐมหาอำนาจในยุโรปได้ โดยที่รัฐมหาอำนาจในยุโรปขณะนั้น คือ ฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรียและอังกฤษ จะเป็นผู้ควบคุมระบบความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐเหล่านี้นอกจากจะคุกคามรัฐอื่น ๆ นอกดินแดนยุโรปแล้ว ยังคุกคามรัฐเล็ก ๆ ในยุโรปอีกเป็นจำนวนมาก

ในช่วงเวลานี้ รัฐมหาอำนาจต่างมีความหวาดกลัวและหวาดระแวงซึ่งกันและกันเป็นส่วนใหญ่และพยายามที่จะกระทำการใด ๆ อันเป็นการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของตนไว้ ทั้งนี้จากโครงสร้างภายในของรัฐทำให้ผู้นำของรัฐแต่ละรัฐจะมีอิสระในการจัดการเกี่ยวกับภารกิจต่างประเทศของตนได้โดยเสรี โดยผู้นำของรัฐซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจเลือกนโยบายต่างประเทศจะมีอำนาจและความเป็นอิสระมากกว่าผู้ตัดสินใจทางด้านนโยบายในสมัยปัจจุบัน เพราะมีผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกนโยบายจำนวนน้อยและมีอำนาจต่อผู้นำของรัฐในลักษณะที่ค่อนข้างจำกัด

2.2.2.2. การรักษาดุลแห่งอำนาจ

ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงระยะเวลานี้ ประกอบด้วย ผู้แสดงบทบาทซึ่งเป็นรัฐยุโรป โดยที่รัฐยุโรปเหล่านี้มีความผูกพันต่อกันในรูปของการร่วมมือกันระหว่างผู้นำของรัฐต่าง ๆ ซึ่งต่างก็มีความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงสงครามที่ยืดเยื้อมาก่อนหน้านี้ คือ สงครามเจ็ดปี ระหว่างปี ค.ศ.๑๗๕๖-๑๗๖๓ ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างปรัสเซียและอังกฤษกับออสเตรีย ฝรั่งเศสและรัสเซีย นอกจากนี้ผู้นำของรัฐในยุโรปต่างก็พยายามที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นอันตรายต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประกอบกับการขาดความก้าวหน้าในด้านเครื่องมือที่ใช้เพื่อทำลายในการทำสงคราม ทำให้สงครามที่เกิดขึ้นในสมัยนี้มีลักษณะไม่รุนแรงเหมือนอย่างสงครามในปัจจุบันที่มีการทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก

ในระยะนี้ รัฐต่าง ๆ มักจะรวมตัวกันเพื่อการอยู่รอด และเพื่อมีอำนาจเข้มแข็งเพียงพอที่จะยึดดินแดนของรัฐอื่นมาเป็นของตน รัฐที่มีอำนาจในสมัยนี้และมีความทะเยอทะยานดังกล่าวมักจะถูกขัดขวางจากพวกรัฐที่รวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองบรรดารัฐเล็ก ๆ จึงทำให้มีดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) เกิดขึ้นในยุโรป ซึ่งทั้งรัฐมหาอำนาจและบรรดารัฐที่รวมตัวเข้าด้วยกันเพื่อพิทักษ์รักษารัฐเล็ก ๆ ต่างก็มีอำนาจพอ ๆ กัน ทำให้เป็นการป้องกันมิให้รัฐใดรัฐหนึ่งเข้ายึดครองดินแดนทั้งหมดในยุโรปแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ผลจากการมีดุลแห่งอำนาจทำให้ระบบการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของรัฐแต่อย่างใด

ในช่วงระยะเวลานี้ ฝรั่งเศสมุ่งที่จะสร้างจักรวรรดินของตนให้ยิ่งใหญ่โดยการแผ่ขยายอาณาเขตของตนเข้าไปในดินแดนต่าง ๆ ซึ่งเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีอังกฤษเป็นหัวหน้าของกลุ่มรัฐที่ถ่วงดุลอำนาจ พร้อมทั้งชักชวนรัฐต่าง ๆ ให้ร่วมมือกันต่อต้านการแผ่อำนาจและอาณาเขตของฝรั่งเศส ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ อังกฤษได้ประสบความสำเร็จในการยึดครองดินแดนต่าง ๆ ในโพ้นทะเล ทำให้รัฐต่าง ๆ เริ่มเห็นพ้องกันว่าผู้ที่เป็นอันตรายและคุกคามต่อระบบการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือ อังกฤษไม่ใช่ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้จัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐขึ้นเพื่อยับยั้งการขยายดินแดนของอังกฤษ ซึ่งลักษณะดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน และรัฐที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ (Protector) ก็อาจต้องการเป็นผู้ครองโลก (Conqueror) ได้ ดังนั้นบทบาทของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยนี้จึงไม่ค่อยมีความแน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำของรัฐ ทั้งนี้การมีระบบดุลอำนาจเกิดขึ้นสามารถช่วยได้อย่างมากในการรักษาระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ให้ถูกทำลายลงไป

2.2.3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองโลก

2.2.3.1. ระยะแห่งการเปลี่ยนแปลง

ช่วงระยะเวลานี้อาจเริ่มนับตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๑๕ ถึง ๑๙๔๕ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยชนชั้นกลางมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในกิจการของรัฐ รวมทั้งมีการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในด้านอุตสาหกรรม เช่น การใช้เครื่องจักร เครื่องกล อาวุธใหม่ ๆ เป็นต้น และยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอิทธิพลภายในรัฐที่มีต่อการสร้างนโยบาย โดยเกิดมีกลุ่มชนขึ้นหลายกลุ่มภายในรัฐ คือ กลุ่มผลประโยชน์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกแนวนโยบายของผู้นำรัฐ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความซื่อสัตย์ที่รัฐเคยมีต่อกันมาในอดีตได้เสื่อมคลายลง โดยผู้นำของรัฐหันไปซื่อสัตย์ต่อประชาชนแทน เกิดแนวความคิดเกี่ยวกับชาตินิยมขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นจึงมักมีความรุนแรงและอาจนำไปสู่สงคราม อย่างไรก็ตาม การคมนาคมและการขนส่งที่มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นทำให้รัฐต่าง ๆ ได้ทำการติดต่อซึ่งกันและกันได้โดยสะดวก ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างรัฐมากขึ้น ส่งผลให้ความขัดแย้งและการเข้าใจผิดต่อกันระหว่างรัฐลดน้อยลงไป

อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้ความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และกำลังทหารได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐมีอำนาจในการทำลายฝ่ายศัตรูในยามสงครามได้เป็นอย่างสูง อาจกล่าวได้ว่าผลจากความก้าวหน้าในสมัยนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นอาวุธใหม่ ๆ ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการทำสงคราม

2.2.3.2. ความล้มเหลวในการป้องกันสงคราม

เนื่องจากมีข้อจำกัดน้อยมากเกี่ยวกับการใช้กำลัง จึงนำไปสู่การเกิดสงครามที่มีลักษณะรุนแรงขึ้นสองครั้ง คือ สงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายขึ้นอย่างมากในหลายพื้นที่ รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปทั่วทุกมุมโลก ความกลัวในเรื่องสงครามเริ่มต้นแพร่หลายออกไปมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง ซึ่งความกลัวดังกล่าวได้มีส่วนเกี่ยวพันอย่างสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐในเวลาต่อมา โดยรัฐพยายามหาทางออกเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการทำสงครามระหว่างกัน เช่น มีการจัดตั้งสันนิบาตชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม แต่ในที่สุดก็ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น เนื่องจากกลุ่มสัมพันธมิตรที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจอยู่ในขณะนั้นมีกำลังอำนาจไม่ทัดเทียมกับรัฐที่ชอบรุกราน เช่น เยอรมันและญี่ปุ่น ทำให้รัฐที่ชอบรุกรานเหล่านี้ไม่เกรงกลัวและกล้าตัดสินใจ ประกาศทำสงครามกับประเทศพันธมิตรอีก ส่งผลให้ระบบดุลอำนาจที่เคยใช้ได้ผลต้องถูกทำลายไป แม้ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง จะได้มีการจัดตั้งสหประชาชาติขึ้นทดแทนสันนิบาติชาติ ทำหน้าที่ในการต่อต้านการกระทำของรัฐที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นวิธีการถ่วงดุลอำนาจอีกแบบหนึ่ง แต่ส่วนมากจะใช้ได้กับประเทศเล็ก ๆ เท่านั้น ไม่อาจใช้ได้กับรัฐที่มีกำลังอำนาจมากได้

2.2.4 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

2.2.4.1. บทบาทและความเคลื่อนไหวของรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2

1.ความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายส์และสัญญาสันติภาพฉบับอื่นๆ ซึ่งทำภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันและชาติผู้แพ้สงคราม ถูกบังคับให้ลงนามในสัญญาที่ตนเสียเปรียบ

2.การเติบโตของลัทธิทางทหาร หรือระบบเผด็จการ มีผู้นำหลายประเทศสร้างความเข้มแข็งทางทหาร และสะสมอาวุธร้ายแรงต่างๆ

3.ความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติ การทำหน้าที่รักษาสันติภาพไม่ประสบผลสำเร็จ

4.ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมือง แนวความคิดของผู้นำประเทศที่นิยมลัทธิทางทหาร ได้แก่ ฮิตเลอร์ ผู้นำลัทธินาซีของเยอรมนี และเบนนิโต มุสโสลินี ผู้นำลัทธิฟาสซีสม์ ของอิตาลี ทั้งสองต่อต้านแนวความคิดเสรีนิยม และระบบการเมืองแบบรัฐสภาของชาติยุโรป แต่ให้ความสำคัญกับพลังของลัทธิชาตินิยม ความเข้มแข็งทางทหาร และอำนาจผู้นำมากกว่า

เหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

1.ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย แล้วตั้งเป็นรัฐแมนจูกัว เพื่อเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งทำทุนใหม่สำหรับตลาดการค้าของญี่ปุ่น

2.การเพิ่มกำลังอาวุธของเยอรมัน และฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์

3.กรณีพิพาทระหว่างอิตาลีกับอังกฤษ ในกรณีที่อิตาลีบุกเอธิโอเปีย

4.เยอรมันผนวกออสเตรีย ทำให้เกิดสนธิสัญญา แกนเบอร์ลิน – โรม (เยอรมัน &อิตาลี) ต่อมาประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำสนธิสัญญาด้วย กลายเป็นสนธิสัญญา แกนเบอร์ลิน – โรม – โตเกียว เอ็กซิส

5.สงครามกลางเมืองในสเปน

6.เยอรมันเข้ายึดครองเชคโกสโลวเกีย

7.การแบ่งกลุ่มประเทศในยุโรป

ชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 2

เกิดจากเยอรมนีโจมตีโปแลนด์ และเรียกร้องขอดินแดนฉนวน ดานซิก คืนทำให้อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งสนับสนุนโปแลนด์ ประกาศสงครามกับเยอรมนีทันที ต่อมาเมื่อการรบขยายตัว ทำให้นานาประเทศที่เกี่ยวข้องถูกดึงเข้าร่วมสงครามเพิ่มขึ้น ( 1 กันยายน ค.ศ.1339)

ประเทศคู่สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2

แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

(1) กลุ่มประเทศฝ่ายพันธมิตร ชาติผู้นำที่สำคัญ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต รวมทั้งยังมีประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ เข้าร่วมสมทบด้วยอีกจำนวนมาก

(2) กลุ่มประเทศฝ่ายอักษะ ชาติผู้นำที่สำคัญได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี อาวุธที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงด้วยชีวิตมนุษย์มากกว่า ๕๐ ล้านคน และความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม โดยประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกันมาก็กลายเป็นศัตรูต่อกัน ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน มีการแข่งขันกันสะสมอาวุธที่ร้ายแรง และก่อให้เกิดการทำสงครามเย็นต่อกัน ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงเพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งแผ่ขยายอิทธิพลและอำนาจของตนออกไป ขณะเดียวกันก็พยายาม ชักจูงรัฐอื่น ๆ เข้ามาเป็นพวกฝ่ายตน

ในช่วงเวลาระยะนี้ มีประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ในทวีปแอฟริกา และแนวความคิดที่รัฐเพียงรัฐเดียวสามารถที่จะควบคุมดินแดนรัฐทั้งหมดในโลกหรือครองโลกแต่เพียงรัฐเดียวไม่สามารถจะเป็นไปได้ ดังนั้นความกลัวที่ว่าความคิดที่จะครองโลกของรัฐมหาอำนาจบางรัฐจะเป็นภัยอันตรายต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงไม่มีอีกต่อไป คงมีแต่ความกลัวว่ารัฐมหาอำนาจบางรัฐอาจสร้างอิทธิพลและอำนาจของตนในส่วนภูมิภาคขึ้นมาโดยตนเป็นผู้ควบคุมปกครองแต่ผู้เดียว ซึ่งได้นำไปสู่การร่วมมือป้องกันตนเองในส่วนภูมิภาคโดยจัดตั้งองค์การป้องกันระหว่างประเทศขึ้น เช่น SEATO และ NATO เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบางรัฐในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันก็มักจะมีการต่อสู้กันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่น อินเดียกับปากีสถาน และอิสราเอลกับอาหรับเป็นต้น แต่สงคราม และการต่อสู้ดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะที่จำกัดไม่ใหญ่โตและรุนแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อระบบ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้อาจมีบางครั้งที่สงครามหรือการต่อสู้ใด ๆ ในส่วนภูมิภาคทำให้ ประเทศมหาอำนาจต้องตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อรักษาสถานะเดิมของรัฐบางรัฐและเพื่อ รักษาดุลยภาพในภูมิภาคนั้นไม่ให้สูญไป เช่น สงครามเกาหลี เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจ ของโลกได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งและพัฒนา องค์การที่เกี่ยวกับความมั่นคงและปลอดภัยระหว่างประเทศในภูมิภาค การให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่ฝ่ายที่มีการต่อสู้ระหว่างรัฐในภูมิภาค การเข้าไปแทรกแซงหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและสงครามภายในรัฐที่อยู่ในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากหรือเหตุการณ์อันไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นภายในรัฐในส่วนภูมิภาคบ่อยครั้งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความไม่ลงรอยและการขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เช่น กรณีคองโก ในปี ค.ศ.๑๙๖๐ กรณีกรีกและตุรกีในปี ค.ศ.๑๙๔๙ และ ๑๙๕๐ รวมทั้งกรณีเวียดนามในปี ค.ศ.๑๙๖๐ สิ่งที่ตามมาก็คือหากมีการขัดแย้งเกิดขึ้นในส่วนภูมิภาคซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต ประสิทธิภาพในการจัดการกับกรณีข้อขัดแย้งดังกล่าวของสหประชาชาติที่จะลดน้อยลงไป เพราะประสิทธิภาพในการดำเนินงานเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติจะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศจะค่อนข้างแตกต่างกับในสมัยก่อนหน้านี้ เพราะนโยบายต่างประเทศในยุคสมัยนี้จะเกี่ยวพันกับคนเป็นจำนวนมากและเงินเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ ดังนั้นเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ผู้ตัดสินใจมักจะหนีไม่พ้นอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบาย และยังต้องคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจและการทหารภายในประเทศ ก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดนโยบายในเรื่องใด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ยากและยุ่งยากซับซ้อน ไม่มีความยืดหยุ่นมากเหมือนในสมัยก่อน

2.2.4.2. สัมพันธภาพระหว่างประเทศมหาอำนาจ

ในช่วงเวลานี้ประเทศมหาอำนาจที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งนับเป็นคู่แข่งสำคัญในสงครามเย็น มีการดึงเอาประเทศต่าง ๆ เข้ามาเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์ของตน ประการสำคัญได้มีการแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันทางทหารระหว่างกันได้ทำให้มีการพยายามปรับปรุงความสามารถของตนให้เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้ง “ระบบการป้องกันตัวเอง”(Self – Defense System) เพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายสามารถทำลายฝ่ายตนได้อย่างไรก็ตามประเทศมหาอำนาจทั้งสองต่างก็ได้พยายามหลีกเลี่ยงในการทำสงครามต่อกันโดยตรงมาโดยตลอด และมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดการขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งต่อกัน ทั้งนี้แม้จะมีสงครามเกิดขึ้นในภูมิภาคหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยลุกลามขยายกลายเป็นสงครามโลกขึ้นมาอีก เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทั้งสองมักจะจำกัดขอบเขตของอาณาบริเวณที่ทำการต่อสู้กันไม่ให้กว้างขวางมากเกินไปจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

2.2.4.3. พฤติกรรมในระบบการเมืองระหว่างประเทศ

ในช่วงระยะเวลานี้ มีพฤติกรรมบางอย่างในระบบการเมืองระหว่างประเทศที่มหาอำนาจไม่สามารถควบคุมได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่อาวุธนิวเคลียร์ได้แพร่หลายและเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในการควบคุม ซึ่งเกรงกันว่าอาจมีโอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุขึ้นได้ และก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากมีความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม การแพร่หลายของอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Proliferation) ได้นำไปสู่แนวความคิดของรัฐมหาอำนาจในเรื่องการลดกำลังอาวุธและการควบคุมอาวุธ เพราะเป็นวิธีการที่จะช่วยให้โอกาสที่สงครามจะเกิดขึ้นลดน้อยลง เช่น สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธปรมาณู ทั้งในอวกาศและใต้ดิน ค.ศ.๑๙๖๓ และสนธิสัญญาป้องกันการแพร่หลายของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี ค.ศ.๑๙๗๐

นอกจากนี้ยังมีลักษณะของระบบการร่วมกันเป็นสัมพันธมิตร โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหน้าของกลุ่มประเทศฝ่ายตะวันตก และสหภาพโซเวียตเป็นหัวหน้าของกลุ่มประเทศฝ่ายตะวันออก ซึ่งประเทศสมาชิกของแต่ละกลุ่มต่างก็เต็มใจที่จะให้ประเทศมหาอำนาจซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มตนเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างกลุ่ม ซึ่งต่อมาภายหลังจากปี ค.ศ.๑๙๖๐ การรวมตัวอย่างเหนียวแน่นและความสามัคคีภายในกลุ่มรัฐได้หมดไป เนื่องจากเกิดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันภายในกลุ่ม และรัฐสมาชิกภายในของแต่ละกลุ่มก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายของตนอย่างเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นกับใคร ขณะเดียวกันยังมีรัฐที่ยึดถือแนวนโยบายเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อ้างอิงhttp://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:WFVsRPvmaPIJ:58.97.114.34:8881/academic/images/stories/1_kwarm_mun_kong/3_politic/1_inter/21311-4.doc+&cd=4&hl=th&ct=clnk&gl=th(หน้า 30-36)

2.2.5. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยสงครามเย็น

การปรับตัวของไทยในยุคสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดภาวะสงครามเย็นอันเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และกำลังอาวุธ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายเสรี และค่ายคอมมิวนิสต์ มหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย พยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ จนนำไปสู่วิกฤตการณ์การต่อสู้อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือประเทศไทย จนเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ชนะสงคราม ไทยจึงเลือกให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสภาวะสงครามเย็น อันเป็นผลให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

2.2.5.1 การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ

ภายหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดย โฮจิมินห์ได้รับชัยชนะในสงครามกอบกู้เอกราชของเวียดนาม ทำให้สงครามเย็นแผ่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสหรัฐอเมริกาขยายบทบาททางทหารเข้ามาด้วยการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization : SEATO ) โดยมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย ฟิลิปปินส์ และ ปากีสถาน ต่อมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเริ่มถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม ในขณะที่จีนยังให้การสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเกรงว่าจะเกิดช่องว่างอำนาจ จึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาเซียนขึ้นใน พ.ศ.2510

ปัจจุบันไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก นับว่าเป็นการเสริมสร้างบทบาทและปกป้องผลประโยชน์ของไทยในระดับนานาชาติ


2.2.5.2 นโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศอินโดจีน

เมื่อคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะใน เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน ภายหลังที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาโดยสนับสนุนให้ เฮง สัมริน ขึ้นปกครองกัมพูชา และขับไล่เขมรแดงหลบหนีมาอยู่ป่าตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ระยะนี้ไทยปรับตัวโดยร่วมมือกับอาเซียน เพื่อเรียกร้องและกดดันให้เวียดนามถอนทหารออกไปจากกัมพูชา โดยไทยและอาเซียนได้สร้างแนวร่วม กับประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตก เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจของเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

2.2.5.3 นโยบายผูกมิตรกับประเทศตะวันตก

ในยุคสงครามเย็นไทยได้ผูกมิตรกับประเทศตะวันตกโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ นโยบายต่างประเทศของไทยในระยะนี้คือการต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับรัสเซีย และจีนหันมาปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายโดยงดความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา ถอนฐานทัพจากไทย และหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนและเริ่มให้ความสำคัญกับ สหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันมีการสถาปนาความสัมพันธ์กับลาว กัมพูชา และเวียดนาม ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 การเมืองไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนและพรรคการเมืองได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ และได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 โดยหวังจะได้รับผลประโยชน์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มห่างเหินกันมากขึ้น

2.2.5.4 นโยบายการทูตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ

หรือการทูตรอบทิศทาง ในปี พ.ศ. 2528 ประเทศไทยได้ปรับตัวโดยนำการทูตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชักชวนให้นักธุรกิจมาลงทุนในประเทศ และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวต่างประเทศมาท่องเที่ยว และลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันไทยได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา จึงถูกสหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการกีดกันการค้า

2.2.5.5 นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

หรือนโยบายอนุภูมิภาคนิยม (Sub-regionalism) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สงครามเย็นยุติลง ไทยหันมาร่วมมือกับประเทศอินโดจีน โดยประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เพราะเห็นโอกาสที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ในรูปของความร่วมมืออนุภูมิภาค หรือความร่วมมือ สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทางภาคเหนือ มี ไทย พม่า จีน และลาว ต่อมาขยายเป็น ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจมี ไทย พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ มี จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนทางใต้คือความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มี ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในขณะเดียวกัน ไทยพยายามจะใช้โอกาสในการเปิดประตูสู่อินโดจีน โดยมีเป้าหมายหลักคือ อินโดจีน พม่า และอาเซียนในปี พ.ศ. 2535 ไทยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

2.2.6.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยหลังสงครามเย็น

การปรับตัวของไทยในยุคโลกาภิวัตน์

ภายหลังสงครามเย็นยุติลง สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำเพียงผู้เดียว และสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบโลกใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี การเคารพสิทธิมนุษยชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปลี่ยนจากระบบสองศูนย์อำนาจไปสู่หลายศูนย์อำนาจ เกิดการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ การกีดกันการค้า การรวมกลุ่มกันด้านเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและถ่วงดุลกันด้านเศรษฐกิจ เช่น การรวมตัวเป็นตลาดเดียวของประชาคมยุโรป การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นต้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและในโลกและการแข่งขันที่ไร้พรมแดน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน การปรับตัวที่สำคัญมีดังนี้

1. การปรับตัวของไทยทางด้านสังคม

กระแสโลกาภิวัตน์และระเบียบโลกใหม่ที่เน้นเรื่องการค้าเสรี ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันการแพร่ขยายอิทธิพลทางการค้าของบริษัทข้ามชาติได้เข้ามาทำลายธุรกิจขนาดย่อมภายในประเทศสภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพแห่งการแข่งขัน การปรับตัวทางสังคมที่สำคัญมีดังนี้

1.1 การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8

แสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่หันมาให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน และมียุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ เน้นการพัฒนาคนโดยถือว่า คนคือทรัพยากรที่สำคัญของชาติที่เรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์” การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรท้องถิ่น การสร้างประชารัฐ โดยมุ่งประสานรัฐกับประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน การสร้างสังคมที่ร่วมกันแก้ปัญหาทุกอย่างแบบบูรณาการในรูปเบญจภาคี ประกอบด้วยชุมชน รัฐ นักวิชาการ องค์กรเอกชน และองค์กรธุรกิจ

1.2 ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น

โดยให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่น การพัฒนาจะต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านเอง ดังคำพูดที่ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ยุทธศาสตร์การพัฒนานี้มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ

1.2.1 หลักการพึ่งตนเอง ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ “การพออยู่พอกิน”

1.2.2 ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต จากเพื่อการพาณิชย์ เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ โดยมี เป้าหมายเพื่อกินเพื่อใช้ เมื่อมีส่วนเกินจึงนำออกขาย และต้องกระจายการผลิตในครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงแห่งชีวิต

1.2.3 พัฒนาบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชุมชน

1.2.4 ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชาวบ้าน

1.2.5 รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรชุมชนหรือองค์กรชาวบ้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของภาคประชาชน

1.3 การปรับตัวของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญานำทางที่มีจุดเน้นคือการดำเนินการในทางสายกลางให้ก้าวทันโลก ความพอเพียงที่เน้นการผลิตและการบริโภคบนความ พอประมาณและความมีเหตุผล ความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการผลิตอย่างเป็นองค์รวมมีความสมดุลย์ระหว่างการแข่งขันจากกระแสโลกาภิวัตน์ และกระแสท้องถิ่นนิยม มีความหลากหลายในโครงสร้างการผลิต มีการใช้ทุนที่มีอยู่ในสังคมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดี มีภูมิคุ้มกันที่ดี รู้เท่าทัน ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเสริมสร้างจิตใจให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีสติปัญญา ความเพียร ความอดทน และรอบคอบ

1.4 การปฏิรูปการศึกษา

การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มี คุณภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างรู้เท่าทันโลก การปรับตัวทางด้านการศึกษาที่สำคัญคือ

1.4.1 การกำหนดสิทธิ

ด้านการได้รับการศึกษาของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 43 ได้กำหนดสาระเกี่ยวกับการศึกษาว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐบาลจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

1.4.2 การออกพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ พ.ศ.2542

ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิรูป การศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตคนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ผลิตคนให้มีความรู้และมีทักษะเฉพาะด้าน ที่สำคัญคือ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาษาอังกฤษ ปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ฝึกให้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม รู้เท่าทันโลก และอยู่ได้อย่างมีความสุข

2. การปรับตัวของไทยทางด้านเศรษฐกิจ

กระแสโลกาภิวัฒน์อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ระเบียบทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการค้าเสรี ทำให้ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน การเคลื่อนย้ายการผลิต และการลงทุนข้ามชาติทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่และมีความพร้อมในการแข่งขันสูงเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจภายในประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจภายในประเทศที่มีทุนน้อยไม่สามารถแข่งขันได้ ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าได้ทวีความรุนแรง ประเทศต่าง ๆ มีการกีดกันการค้าโดยใช้ มาตราการต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า มาตรฐานแรงงาน การรวมกลุ่มเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเพื่ออำนาจต่อรองและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมไทยที่สำคัญคือ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยต้องปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิรูปครั้งสำคัญ ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจเน้นการพัฒนาบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญมีดังนี้

2.1 การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนา

จากการพึ่งพิงต่างประเทศมาเป็นการพัฒนาที่เน้นการพึ่งตนเอง โดยการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยมีหลักการพัฒนาทางความคิดดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองได้ ทั้งการพึ่งตนเองทางจิตใจ สังคม ทรัพยากร เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ โดยมีฐานการคิดในการพัฒนาเป็นลำดับ ดังนี้

1) พัฒนาตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การผลิตเพื่อบริโภคในครอบครัว ขั้นที่ 2 รวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด สวัสดิการ และขั้นที่ 3 ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยทุกฝ่ายได้รับประโยชน์

2) สร้างพลังทางสังคม โดยประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน สื่อมวลชน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาธุรกิจชุมชน

3) ยึดพื้นที่เป็นหลัก และใช้องค์กรชุมชนเป็นศูนย์กลาง

4) ใช้กิจกรรมชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และการจัดการ

5) เสริมสร้างการรวมกลุ่ม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

6) วิจัยและพัฒนาธุรกิจชุมชนครบวงจร (ผลิต แปรรูป ขาย และบริโภค)

7) พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มีศักยภาพสูงแต่ละเครือข่ายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชน

ปัจจุบันได้มีการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบทและชุมชนเมือง ได้แก่ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

2.2 การพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน

การพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากร การพัฒนาแบบยั่งยืนจะมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน การจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นต้น

2.3 เสริมสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชีย

ในระดับที่กว้างขึ้น เช่น แนวความคิดการจัดตั้งเวทีหารือสำหรับประเทศในทวีปเอเชียที่เรียกชื่อว่า Asia Cooperation Dialogue : ACD ซึ่งมีขอบข่ายครอบคลุมทวีปเอเชียทั้งทวีป อันได้แก่ สมาชิกกลุ่มอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปากีสถาน กาตาร์ บาเรนห์ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะและจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อนของแต่ละประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพความมั่นคง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมกันในเอเชียมากขึ้น

2.4 การปฏิรูปภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งและสุจริต

โดยการสร้างธรรมาภิบาลด้านเอกชนให้เกิดขึ้น ธรรมาภิบาลคือ การบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักลงทุนชาวต่างชาติ หลักธรรมาภิบาลที่สำคัญคือ การบริหารมีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส เสมอภาค และการมีส่วนร่วม ได้แก่ การรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

3. การปรับตัวของไทยทางด้านการเมืองจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์

ซึ่งเป็นด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง การส่งเสริมการค้าเสรี การเคารพสิทธิมนุษยชน การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบีบคั้นให้ประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ การปรับตัวทางการเมืองที่สำคัญ คือ การประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 (รัฐธรรมูญฉบับประชาชน) และการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

3.1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปีพ.ศ.2540 ถือเป็นการปรับตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และคุณภาพ โดยกำหนดให้มีมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันการประพฤติมิชอบ โดยการกำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบการทำงานของ นักการเมืองและข้าราชการประจำ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรมนูญ ศาลปกครองและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน การกระจายอำนาจ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ท้องถิ่นบริหารงานบุคคล เก็บภาษีอากร มีอำนาจจัดการศึกษา และบริหารด้านสาธารณสุข ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น ข้อกำหนดว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม

3.2 การปฏิรูประบบราชการ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในปี พ.ศ.2540

เป็นผลมาจากการสะสมปัญหาต่าง ๆ ที่มีมานานกว่า 30 ปี ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ ภาครัฐขาดความสามารถในการบริหารจัดการ และปรับตัวเองได้อย่างทันการ จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ โดยปรับปรุงระบบราชการให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารให้มีลักษณะอย่างภาคเอกชน มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหาร โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับลดกำลังคนของภาครัฐ การจัดกลุ่มภารกิจส่วนราชการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนดำเนินการแทน การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเป็นเครือข่าย และร่วมมือกับภาคธุรกิจ เอกชน และประชาสังคมมากขึ้น ปรับรูปแบบบริหารจัดการภาครัฐใหม่ เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก มีการวัดผลลัพธ์และค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม ปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณเป็นแบบมุ่งเน้นผลงานและผลลัพธ์ โดยเปลี่ยนกระบวนการงบประมาณจากควบคุมการใช้ทรัพยากรเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลผลิตและผลลัพธ์ของงาน เสริมสร้างระบบการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยการกำหนดเป้าหมายของการทำงานเป็นรูปธรรมโดยมีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน มีดัชนีวัดผลสัมฤทธิ์ของงานและสามารถประเมินผลงานได้ เน้นความรับผิดชอบของผู้บริหาร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการเงินและการพัสดุให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อประชาชนเป็นหลัก

เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยการยอมรับของประชาชน ทั้งนี้เพราะศักยภาพของการแข่งขันของไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและการเมืองระหว่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศของไทย

องค์กรระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศกับประเทศไทย

ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ

ความมั่นคงในยุคสมัยใหม่

กฎหมายระหว่างประเทศกับประเทศไทย